สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่าสภาแห่งชาติยูเครนมีมติ ในการประชุมเมื่อวันพุธ เกี่ยวกับการเตรียมเข้าเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี)


ทั้งนี้ ยูเครนลงนามในธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการก่อตั้งไอซีซี เมื่อปี 2543 แต่ไม่เคยให้สัตยาบัน เนื่องจากหลายฝ่ายยังคงมีความวิตกกังวล ว่าอาจกลายเป็นการเปิดทางให้พลเรือนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ และทหารระดับสูงของประเทศ ต้องเผชิญกับหมายจับและการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในข้อหาอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ


ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการที่สภาแห่งชาติของยูเครนให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมอย่างเป็นทางการ หลังผ่านมานาน 24 ปี


ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มี.ค. 2566 ไอซีซีซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ อนุมัติคำร้องของคณะอัยการ ในการออกหมายจับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และนางมาเรีย อเล็กเซเยฟนา ลโววา-บีโลวา ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิเด็กประจำทำเนียบเครมลิน จากข้อกล่าวหา “ก่ออาชญากรรมสงคราม ผ่านการเคลื่อนย้ายเด็กในยูเครน” และ “ความล้มเหลวในการใช้อำนาจ จัดการกับพลเรือนและทหารซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้”


จนถึงตอนนี้ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า หมายจับของไอซีซี “ไม่มีความหมายในทางใดทั้งสิ้น” เนื่องจากรัสเซียไม่ได้เป็น 1 ใน 123 ประเทศ ซึ่งร่วมเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม และวิจารณ์ การที่ไอซีซี “เพิกเฉย” ต่อการที่สหรัฐเข้าไปปฏิบัติการในอิรัก เพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เมื่อปี 2546.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES