สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่า ญี่ปุ่นเร่งส่งเสริมการส่งออกอาหารทะเลไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ นอกเหนือจากจีนมากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขาย หลังจีนประกาศห้ามนำเข้าสินค้าเป็นเวลา 1 ปี

จีนเคยเป็นตลาดส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ก่อนประกาศห้ามซื้อ โดยอ้างความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเป็นผลจากบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เทปโก) ปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ลดลงถึงร้อยละ 43.8 ซึ่งถือเป็นสถิติลดลงเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2563

นายโนริฮิโกะ อิชิกูโระ ประธานองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า “เรายังไม่สามารถฟื้นฟูจากรายได้ที่เสียไปจากจีน ขณะเดียวกัน การส่งออกไปยังสหรัฐ, แคนาดา, ไทย และเวียดนาม ที่กำลังเพิ่มขึ้น อาจช่วยผลักดันรายได้จากตลาดทางเลือกได้อย่างมาก” ทั้งนี้ เจโทรกำลังเร่งกระจายจุดหมายปลายทางการส่งออกหอยเชลล์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ผ่านการสร้างช่องทางการค้าใหม่ อาทิ เอเชีย, สหรัฐ และยุโรป

นายอิชิกูโระ ให้ข้อมูลว่า การส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่น มีศักยภาพในการเติบโต และอาจใช้เวลาไม่นานในการชดเชยช่องว่างดังกล่าว ก่อนหน้านี้ ในปี 2565 ญี่ปุ่นส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมูลค่า 87,100 ล้านเยน (ราว 20,464 ล้านบาท) ตัวเลขดังกล่าวรวมถึงการส่งออกไข่มุกและปะการัง ซึ่งตกลงอย่างรวดเร็วจาก 61,000 ล้านเยน (ราว 14,333 ล้านบาท) ในปี 2566 เหลือ 3,500 ล้านเยน (ราว 822 ล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567

ด้วยงบประมาณเพิ่มเติม 5,000 ล้านเยน (ราว 1,174 ล้านบาท) จากรัฐบาลญี่ปุ่น เจโทรให้ความสนับสนุน 170 โครงการ เพื่อส่งเสริมการส่งออกหอยเชลล์, ปลาหางเหลือง และปลาชนิดอื่น ๆ ในฟาร์มของเมืองมากกว่า 70 แห่งในญี่ปุ่น และต่างประเทศ อาทิ เมืองดาวอส ในสวิตเซอร์แลนด์ และซานฟรานซิสโกของสหรัฐ

นอกจากนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังเชิญเชฟชื่อดัง, ผู้ทรงอิทธิพลทางสังคม และผู้ซื้อจากต่างประเทศ เพื่อเยี่ยมชมตลาดปลาและแหล่งประมงของญี่ปุ่น ขณะที่แคมเปญในไทย มุ่งไปที่การส่งเสริมอาหารทะเลจากญี่ปุ่นในร้านอาหารชาติอื่น เช่น ร้านอาหารไทย, อิตาลี และจีน

มากไปกว่านั้น เจโทรยังส่งคณะผู้แทนไปยังเวียดนามและเม็กซิโก เพื่อสำรวจแหล่งแปรรูปหอยเชลล์ เพื่อหาช่องทางทดแทนห่วงโซ่อุปทานของจีนที่หายไป อิชิกูโระตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดเกิดใหม่ อาทิ ยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง น่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ในโปแลนด์เพียงประเทศเดียว มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากถึง 2,000 แห่ง.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES