น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.กล่าวเปิดงานเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงความสำคัญของการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ วิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยคาดหวังให้คนไทยมีทักษะความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่มีผลกระทบโดยตรงต่อมวลมนุษยชาติทั้งปัจจุบันจนถึงอนาคต การสร้างส่งเสริมศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ  รัฐบาลจึงสนับสนุน การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงองค์ความรู้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ไม่เพียงการเรียนรู้เฉพาะในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยหรือในสถาบันต่างๆ เท่านั้น โลกในอนาคตเป็นโลกกว้างที่มีองค์ความรู้หลากหลายสามารถเรียนรู้ได้อย่างไร้พรมแดน รวมทั้งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐบาลจึงสนับสนุนการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่คนไทยทุกช่วงวัย

“หวังว่างานมหกรรมวิทย์ฯ ปีนี้ จะสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการศึกษาสะเต็ม ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มพูนกําลังคนในสาขาอาชีพวิทยาศาสตร์ และช่วยพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในการเป็นนักประดิษฐ์และนวัตกรในอนาคต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถต่อยอดการประกอบอาชีพอย่างมั่นคงได้ในอนาคต”

ด้านนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัด อว. กล่าวว่า งาน มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นกิจกรรมสำคัญในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จัดระหว่างวันที่ 16-25 ส.ค.นี้ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 106 หน่วยงานเข้าร่วมและเป็นเวทีสำคัญในการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และเทิดพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ปลัด อว. กล่าวต่อว่า แนวคิดของการจัดงานในปีนี้คือ “Future Science Community For All” หรือ “สังคมวิทยาศาสตร์แห่งอนาคตสำหรับทุกคน” ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์ของกระทรวง อว. ที่ต้องการให้ทุกกลุ่มในสังคม มีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนาสังคมวิทยาศาสตร์ที่ยั่งยืน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ หรือ ผู้สูงอายุ เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ที่เปิดกว้างและครอบคลุม และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและสร้างอนาคตที่ดีขึ้น  โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงเทคโนโลยีที่ทันสมัย และกิจกรรมความสนุกด้านวิทยาศาสตร์มากมาย

อาทิ นิทรรศการ “The Multiverse of AI: Trick or Truth” ร่วมออกเดินทางสำรวจจักรวาลแห่ง AI ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์เบื้องหลังนวัตกรรมแห่งอนาคต  นิทรรศการ “อาชีพ STEM สร้างอนาคต” เปิดโลกอาชีพวิทย์แสนสนุกของเด็กและเยาวชนให้รู้ทักษะของตัวเอง เติบโตอย่างมีเป้าหมายและได้ทำงานในสิ่งที่รักอย่างสนุกสนาน  นิทรรศการ “ต้องรอด! ในดินแดนสุดขั้ว” ร่วมสำรวจมหานครทะเลทราย ดินแดนลึกลับที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด พาทุกคนเดินทางเข้าสู่ดินแดนแห้งแล้งสุดขั้ว สัมผัสประสบการณ์ในดินแดนทะเล 4 แบบ ร่วมค้นหาพืชและสัตว์แปลกตาที่อยู่รอดในดินแดนแห้งแล้งพร้อมผจญภัยและเรียนรู้วิถีชีวิตชาวเบดูอิน สนุกกับการทดลองขี่อูฐและร่วมเฉลิมฉลองให้กับปีสากลแห่งอูฐ และนิทรรศการ “ปิโตรเคมีปั้นแต่งโลก” เรียนรู้ความความสำคัญของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีต่อความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งนี้ในการเปิดงาน น.ส.ศุภมาส ยังได้มอบรางวัลให้กับเยาวชนและครูผู้ได้รับรางวัล Prime Minister’s Science Award 2024 ด้วย.