นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวทางดูแลปัญหานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่มีราคาถูก และไม่ได้มาตรฐานว่า กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาในภาพรวม รวมทั้งเตรียมจัดตั้งคณะทำงานระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาโดยตรง เพื่อให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างรวดเร็ว แต่ต้องคำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรม และเป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 67 กรมได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชน 30 กลุ่มธุรกิจ เช่น พลาสติกเครื่องนุ่งห่ม ของขวัญของชำร่วย เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เครื่องจักรกลและโลหะการ เซรามิก แกรนิตและหินอ่อน เครื่องสำอาง อาหารเสริม เฟอร์นิเจอร์ เป็นตน เพื่อรับฟังสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการแข่งขันทางการค้าระหว่างสินค้าเอสเอ็มอีไทยกับสินค้านำเข้า รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ ทั้งด้านคุณภาพ และราคา เพื่อนำความเห็นไปเสนอในระดับนโยบายต่อไป

“ผู้ประกอบการได้ให้ข้อมูลปัญหา และผลกระทบจากสินค้านำเข้า ที่มีต่อผู้ผลิตสินค้า ภาคบริการ การลงทุน และผู้บริโภค จากปัญหามาตรฐานสินค้าคุณภาพต่ำและราคาถูก การลักลอบนำเข้าสินค้าทางชายแดน การสำแดงพิกัดสินค้าที่เป็นเท็จ รวมถึงการเข้ามาตั้งธุรกิจบริการและภาคการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและผู้บริโภคไทย”

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้เสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของสินค้านำเข้า การสร้างความเข้มแข็งให้ประกอบการไทย การปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย ขณะเดียวกันให้ดูถึงความจำเป็นของการนำเข้าสินค้ามาใช้เพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปในประเทศ เช่น สินค้าทุน วัตถุดิบ ฯลฯ หากหน่วยงานภาครัฐจะใช้มาตรการใดๆ ขอให้พิจารณากระทบ ที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำเข้า ผู้ใช้ และผู้บริโภคด้วย เพราะสินค้าดังกล่าวมีความจำเป็นต้องนำเข้ามาใช้

ส่วนการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า ทั้งมาตรการตอบโต้กาทุ่มตลาด (เอดี) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) ที่ภาคเอกชนเรียกร้องนั้น กรมได้ชี้แจงไปแล้ว โดยหากผู้ประกอบการไทยไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถยื่นคำขอใช้มาตรการดังกล่าวได้ ภายในเงื่อนระหว่างประเทศ และในวันที่ 23 ส.ค. นี้ กรมจะเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง 12 หน่วยงาน มาหารือเพิ่มเติม เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมก่อสร้าง สภาวิศกร สภาสถาปนิก สมาคมท่องเที่ยว สภาการศึกษา สภามหาวิทยาลัย ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง ฯลฯ รวม 12 หน่วยงาน