เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดระยะเวลา 4-5 วันที่ผ่านมา ในพื้นที่ของ อ.ภูซาง และ อ.เชียงคำ จ.พะเยา ต้องเผชิญสภาพปัญหาฝนตกต่อเนื่องจนทำให้น้ำป่าไหลมาท่วมเป็นระยะ บางพื้นที่ชาวบ้านถึงกับถอนหายใจ หลังพบว่าน้ำที่มาท่วมนั้นไม่มีทีท่าว่าจะลดหรือบ้างลดไปแล้วก็กลับมาท่วมซ้ำอีก ทั้งนี้พบในพื้นที่บ้านสบบง หมู่ 2 ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ซึ่งจะเห็นได้ว่าหมู่บ้านใกล้กับลำน้ำบงเป็นอย่างมาก หากมีฝนตกหนักต่อเนื่องลำน้ำดังกล่าวก็จะสูงขึ้นจนเข้าท่วมบ้านเรือนและถนนของหมู่บ้านจนไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ รวมทั้งได้รับความเสียหายอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ในพื้นบริเวณทุ่งนาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าทุ่งลอซึ่งอยู่ ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ จ.พะเยา กระแสน้ำป่าได้ไหลท่วมนาข้าวจนเสียหายคาดไม่ต่ำกว่า 1 พันไร่โดยประมาณ ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเคยถูกน้ำป่าเข้าท่วมมาแล้วจนชาวนาไม่สามารถทำนาหรือปลูกข้าวได้ใหม่ในระยะเวลา 4 เดือนของช่วงหน้าฝนด้วย

นายสมชาย วงศ์จริยะเกษม นายอำเภอภูซาง กล่าวถึงปัญหาว่า ในช่วงนี้มีฝนตกต่อเนื่องไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนฝนจะกระหน่ำลงมาอย่างหนักทำให้ในหลายพื้นที่เกิดระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันโดยง่าย ซึ่งอย่างพื้นที่ของบ้านสบบง หมู่ 2 นั้น ปัญหาเกิดขึ้นบ่อยครั้งในตลอดระยะเวลา 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาตรงนี้ ตนกำลังมองว่าสาเหตุจริงๆ ของการเกิดน้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากปัญหาอะไรกันแน่ ซึ่งบ่ายวันนี้ตนจะลงพื้นที่เพื่อเข้าช่วยเหลือชาวบ้านและรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น โดยตนมองว่าควรต้องหารือและแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะถือว่าเป็นปัญหาที่ซ้ำซาก หากเราไม่ทำอะไรเลย ชาวบ้านจะมองว่าภาครัฐเพิกเฉยไม่ได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และครั้งนี้ตนพร้อมเจ้าหน้าที่ต้องเร่งหาสาเหตุในการท่วมครั้งนี้ว่าเกิดจากจุดไหนหรือกระแสน้ำมากเกินไปหรือไม่

ด้านนายธวัช จรัสวรภัทร นายอำเภอเชียงคำ กล่าวว่า ในส่วนของ ต.อ่างทอง ตั้งแต่อาณาเขตบ้านปางมดแดงไปจนถึงฝั่งของ ต.น้ำแวน นั้น ทุ่งนาส่วนใหญ่ตรงนี้ชาวบ้านเรียกว่าทุ่งลอซึ่งมีพื้นที่การปลูกข้าวที่มากที่สุดของ อ.เชียงคำ ก็ว่าได้เพราะกินพื้นที่กว่า 3 ตำบลใน 2 อำเภอโดยเหตุน้ำท่วมทุ่งนานั้นไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกแต่เกิดมาแล้วหลายปี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางน้ำป่าไหลผ่านมาจาก อ.ภูกามยาว และ อ.ดอกคำใต้ ก่อนจะถูกบีบเป็นคอขวดในพื้นที่ ต.อ่างทอง อ.เชียงคำ เพื่อไหลลงสู่ลำน้ำอิงของ อ.เทิง จ.เชียงราย ทั้งนี้เมื่อน้ำป่าไหลบ่ามาอย่างแรงก็จะไหลท่วมทุ่งนาจนเสียหายยับเยิน หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน พื้นที่ตรงนี้เคยถูกน้ำป่าไหลแช่ทุ่งนามาไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน จนชาวบ้านที่มีอาชีพทำการเกษตรปลูกข้าวไม่สามารถปลูกข้าวได้อีกเลยในช่วงเวลานั้น โดยหลังจากนี้ตนเตรียมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและติดตามข้อมูลในเรื่องของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายว่าทั้งหมดประมาณเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้เสนอไปทางผู้ว่าฯ พะเยาให้อนุมัติในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยากันต่อไป.