ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ออกมาโพสต์ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Anan Jongkaewwattana” เกี่ยวกับเชื้อไวรัส Mpox เป็นคนละสายพันธุ์กับที่เคยระบาดในหลายประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน โดยพบว่าข้อมูลไวรัสที่เก็บจากผู้ป่วยใน DRC หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีความแตกต่างระหว่าง Clade Ia และ Clade Ib แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมแนะวิธีรับมือต้องไวและมีประสิทธิภาพ

โดยดร.อนันต์ ระบุข้อความว่า ไวรัส Mpox ที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้ จะเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในหลายประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน โดยตอนนั้นเป็น Clade II แต่ตัวที่กำลังเป็นที่จับตามองเป็นสายพันธุ์ Clade Ib ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยในกลุ่ม Clade I โดยในกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ Clade Ia และ Clade Ib โดยไวรัสในกลุ่ม Clade Ib เป็นไวรัสเพิ่งค้นพบใหม่เมื่อปีที่แล้วใน South Kivu ในประเทศ DRC หรือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดของ Clade I มานานแล้ว เหตุการณ์ตอนนี้ไวรัส Clade Ib จาก DRC พบการระบาดอย่างต่อเนื่อง และ แพร่กระจายต่อไปยังประเทศข้างเคียง ข้อมูลไวรัสที่เก็บจากผู้ป่วยใน DRC พบความแตกต่างระหว่าง Clade Ia และ Clade Ib อย่างมีนัยสำคัญ

โดยมี 9 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

  1. สายพันธุ์ Clade Ib ในการศึกษานี้มาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อในปี 2024 ในจังหวัด South Kivu ซึ่งบ่งชี้ว่า Clade Ib เป็นการพัฒนาที่ค่อนข้างใหม่ใน DRC
  2. Clade Ib พบเฉพาะในภาคตะวันออกของ DRC โดยเฉพาะในจังหวัดเซาท์คิวู ซึ่งแตกต่างจากการกระจายตัวที่กว้างขวางของ Clade Ia ทั่วประเทศ
  3. เชื่อว่าไวรัส Clade Ia ที่พบในผู้ป่วยจะเกิดจากการเชื้อจากสัตว์สู่คนโดยตรง ทำให้เกิดความหลากหลายพันธุกรรมของไวรัสสูงมาก เพราะมีการติดเชื้อจากสัตว์หลาย source หลายเวลา ส่วน Clade Ib มีความแตกต่างทางพันธุกรรมน้อยกว่ามาก ซึ่งเชื่อมโยงกับการแพร่เชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระบาดวิทยาของ mpox ในภูมิภาคนี้
  4. การศึกษาพบการกลายพันธุ์ที่เกิดจาก APOBEC3 ใน Clade Ib ซึ่งบ่งชี้ถึงการแพร่เชื้อจากคนสู่คน นี่เป็นหลักฐานทางโมเลกุลที่สนับสนุนข้อสังเกตทางระบาดวิทยา ปกติการกลายพันธุ์ที่เกิดจาก APOBEC3 จะเป็นสัญญาณที่ไวรัสอยู่ในประชากรมนุษย์เป็นเวลาสักระยะหนึ่ง ถ้าพบการเปลี่ยนแปลงเยอะก็หมายถึงไวรัสปรับตัวเองเข้าสู่มนุษย์ได้ดีขึ้น
  5. การศึกษาระบุว่าข้อมูลทางคลินิกและระบาดวิทยาสนับสนุนความเป็นไปได้ที่ไวรัส Clade Ib กำลังแพร่กระจายผ่านการสัมผัสทางเพศ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากรูปแบบการแพร่เชื้อ mpox แบบดั้งเดิมใน DRC ซึ่งมักเกิดจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง
  6. การระบาดของ Clade Ib ในภาคตะวันออกของ DRC ได้แพร่กระจายไปยังเมืองอื่นๆ ในจังหวัดเซาท์คิวู (บูกาวูและอูวิรา) และจังหวัดนอร์ทคิวู (โกมา) รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างรวันดา ยูกันดา เคนยา และบุรุนดี การเกิดขึ้นและการแพร่กระจายของ Clade Ib เป็นความกังวลด้านสาธารณสุขที่สำคัญ นำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา
  7. การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่องของ Clade Ib ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการปรับตัวของไวรัสที่อาจช่วยให้การแพร่กระจายในรูปแบบนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น
  8. ความรุนแรงของเชื้อระหว่าง Clade Ia และ Ib ใกล้เคียงกัน และ มีความรุนแรงที่สูงกว่า Clade II แต่ทั้งนี้ตัวเลขความรุนแรงที่มีอัตราเสียชีวิต 5% เป็นการเก็บข้อมูลในประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ค่อยดี และ มีการติดเชื้อ HIV เป็นวงกว้างส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยไม่ดี ข้อมูลจึงอาจต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าวด้วย
  9. เนื่องจาก Clade I ยังมีอยู่ในแอฟริกา และ วัคซีนที่พัฒนาขึ้นจะทดสอบกับ Clade II ข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่า ประสิทธิภาพการป้องกันโรคต่อ Clade I จะดีเท่ากับที่รายงานใน Clade II หรือไม่

“ประเทศสวีเดนเป็นที่แรกที่ประกาศพบผู้ป่วย mpox Clade I ในประเทศ เป็นคนแรกนอกทวีปแอฟริกา ซึ่งข่าวนี้สร้างความ panic พอสมควรทีเดียว แต่เอาจริงๆ บทเรียนจากการระบาดของ Clade II เมื่อ 2 ปี ก่อน บอกว่ามันคงเกิดขึ้นไม่เร็วก็ช้า แต่การรับมือต้องไว และ มีประสิทธิภาพอีกด้วย” ดร.อนันต์กล่าว

ขอบคุณข้อมูล : Anan Jongkaewwattana