เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนกำลังรวบรวมประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มาตรฐานทางจริยธรรม กระบวนการเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่า ในส่วนพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ที่เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคประชาชน และมี สส. ในนามพรรคประชาชน เข้าไปร่วมเป็นองค์ประชุมในวันดังกล่าวนั้น หากพรรคถิ่นกาขาวฯ มีเหตุสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองไปแล้ว การเลือกนายกฯ จะชอบหรือไม่ จะเป็นโมฆะหรือไม่ จึงได้ส่งไปรษณีย์ EMS ถึง กกต.ขอให้ตรวจสอบ ตามมาตรา 33 พ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดย (1) ดำเนินการให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 พันคน และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนภายใน 4 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน (2) จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา โดยสาขาพรรคต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

มาตรา 90 พรรคการเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ (1) สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา 91 เมื่อ (1) ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 17 วรรคสาม หรือไม่ สามารถดำเนินการตามมาตรา 33 (1) หรือ (2) ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด มาตรา 141/1  เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก่อนมีผลใช้บังคับ พรรคการเมืองใดประสงค์จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อแจ้งแล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่เกี่ยวข้อง

(3) จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด พร้อมทั้งแจ้งรายการตามมาตรา 33 หรือมาตรา 35 ซึ่ง ตามที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง ระบุผ่านสื่อมวลชนว่าการจัดตั้งสาขาพรรคของพรรคถิ่นกาขาวฯ นั้นพบว่า 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ มีการประชุมจัดตั้งสาขาพรรคในส่วนที่ขาดอยู่จนครบ และอยู่ภายใน 1 ปีที่กฎหมายกำหนด มีการจะส่งเรื่องมาให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบตามขั้นตอน การระบุเช่นนี้ อาจคลาดเคลื่อนจากมาตรา 33 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ เทียบเคียงตามประกาศ กกต. ข้อ 4 ตามประกาศ กกต. เรื่อง พรรคสยามพลสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 ให้เหตุผลว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) พรรคสยามพลไม่สามารถดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 พันคน และจัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนพรรคฯ รับจดทะเบียน

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา พบประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2562 ที่ระบุบางส่วน ดังนี้

“ตามที่มาตรา 140 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธ.ค. พ.ศ.2560 กำหนดให้พรรคการเมืองที่จัดตั้ง หรือเป็นพรรคการเมืองตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และยังดำรงอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ใช้บังคับเป็นพรรคการเมืองตามพ.ร.ป. นั้น บัดนี้หัวหน้าพรรคถิ่นกาขาวฯ ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 38 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กรณี พรรคถิ่นกาขาวฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2561 แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค จัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง นโยบายของพรรค และการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคถิ่นกาขาวฯ ชุดใหม่ โดยได้ดำเนินการตามมาตรา 141/1 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 ก.ย. พ.ศ. 2561 ดังนี้

1. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค คำประกาศอุดมการณ์ และนโยบายของ พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล พ.ศ. 2561 ดังนี้ ข้อ 28 ระบุว่า ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีประกาศพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส. พ.ศ. 2561 ในราชกิจจานุเบกษา ต้องดำเนินการให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาค ตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่กกต.กำหนด อย่างน้อยภาคละ1สาขา แต่ละสาขาต้องมีสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งสส. หรือเขตจังหวัดตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ดังนั้นตามที่นายแสวง ระบุว่า “…การจัดตั้งสาขาพรรคของพรรคถิ่นกาขาวฯ นั้นพบว่า 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้มีการประชุมจัดตั้งสาขาพรรคในส่วนที่ขาดอยู่จนครบ และระยะเวลาการจัดตั้งก็อยู่ภายใน 1 ปีที่กฎหมายกำหนด…” นั้น อาจไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดบังคับไว้ เพราะหากพรรคถิ่นกาขาวฯ เพิ่งมีการจัดตั้งสาขาของพรรคถิ่นกาขาวฯ เมื่อต้นเดือนส.ค. 2567 ทั้งที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับพรรคการเมืองไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2561

ดังนั้น ย่อมมีเหตุให้พิจารณาว่า การตั้งสาขาพรรคเมื่อต้น ส.ค. 2567 นั้น เกินกำหนดระยะเวลาภายใน 1 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ และเป็นเหตุให้พรรคถิ่นกาขาวฯ ต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง ไปแล้วหรือไม่ เทียบกับ กรณีของพรรคสยามพลที่สิ้นสภาพตามประกาศ กกต.จึงขอให้กกต.ตรวจสอบเรื่องนี้  ซึ่งหากพรรคพรรคถิ่นกาขาวฯ มีเหตุต้องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ปัญหาการเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชนจะชอบหรือไม่ และบรรดาสส.ที่เข้าไปทำหน้าที่เป็นองค์ประชุมในนามพรรคประชาชน เพื่อโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 จะชอบหรือไม่ และผลโหวตให้บุคคลเป็นนายกฯ จะตกเป็นโมฆะ หรือไม่

“ขอให้ กกต. ตรวจสอบว่า พรรคถิ่นกาขาวฯ สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชน ตามมาตรา  91 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แล้วหรือไม่ และส่งเรื่องต่อให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯ ว่า ชอบหรือไม่” นายเรืองไกร กล่าว.