จากกรณีที่พระราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ตามที่มีการรายงานไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. “เดลินิวส์ออนไลน์” เจาะลึกรายละเอียดภายในประกาศพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องในวาระมหามงคล ปี 2567 โดยเริ่มต้นที่สถิติจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการคุมขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ดังนี้ กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังเด็ดขาดทั่วประเทศ 220,094 ราย ประกอบด้วย ผู้ต้องขังชาย192,898 ราย และผู้ต้องขังหญิง 27,196 ราย จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 290,749 ราย (ข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567)

โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2567 มีผู้ต้องราชทัณฑ์ 30,597 ราย ได้รับประโยชน์ โดยเป็นกลุ่มกักขังแทนค่าปรับ 11,271 ราย จะได้ทยอยปล่อยตัวและดำเนินการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกากำหนดภายใน 120 วัน ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฯ กำหนดไว้ว่าต้องเป็นผู้ได้รับโทษแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี ส่วนขั้นตอนถัดไป กรมราชทัณฑ์ จะต้องตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบรายชื่อและคุณสมบัติให้ถูกต้อง โดยกลุ่มผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษนั้น กรมราชทัณฑ์จะต้องเสนอรายชื่อไปยังศาลเพื่อขอหมายปล่อย ซึ่งรวมถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดิมจะครบกำหนดพ้นโทษในวันที่ 31 ส.ค.67 โดยจะได้ลดจำนวนวันต้องโทษ วันนี้จึงถือเป็นผู้มีคุณสมบัติได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ แต่จะพ้นโทษก็ต่อเมื่อมีหมายปล่อยจากศาล

นายสหการณ์ เผยอีกว่า นอกจากกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีแล้วนั้น ยังมีผู้ต้องขังในคดีสำคัญที่จะได้รับประโยชน์จากการพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน ได้แก่ กลุ่มคดีจำนำข้าว ที่จะได้ลดวันต้องโทษ ส่วนกรณีของนายบรรยิน ตั้งภากรณ์ นักโทษเด็ดขาดชาย (โทษประหารชีวิต) ได้ลดโทษจากประหารชีวิตเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป 2567 นอกจากนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ ตามมาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้วยังมีกลุ่มอดีตนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงซึ่งถูกศาลพิพากษาในคดีสำคัญ เข้าเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดวันต้องโทษ ประกอบด้วย

1.นายภูมิ สาระผล อายุ 68 ปี (อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 60 กำหนดโทษ 36 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 12 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี ดังนั้น จะพ้นโทษในวันที่ 25 ส.ค.2568

2.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 64 ปี (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 60 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี ดังนั้น จะพ้นโทษในวันที่ 21 เม.ย.2571

3.นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อายุ 72 ปี เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 60 กำหนดโทษ 40 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี ดังนั้น จะพ้นโทษในวันที่ 11 ก.ค.2569

4.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง อายุ 67 ปี เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 61 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบแรก เหลือโทษจำคุก 9 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบสอง เหลือโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน 26 วัน ดังนั้น จะพ้นโทษในวันที่ 26 ธ.ค.2566 แต่ยังมีคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา

5.นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ อายุ 78 ปี เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 60 กำหนดโทษ 50 ปี ได้รับอภัยโทษปี 64 ในรอบแรก เหลือโทษจำคุก 17 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 64 ในรอบสอง เหลือโทษจำคุก 9 ปี 5 เดือน 24 วัน ดังนั้น จะพ้นโทษในวันที่ 19 ก.ย.2569

ทั้งนี้ กรณีคุณสมบัติของใบบริสุทธิ์ หรือ ใบสุทธิ ตามเนื้อหาใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 67 ระบุชัดเจนว่าต้องออกใบสำคัญการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดที่พ้นโทษ ซึ่งถือเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าผู้นั้นได้รับการปล่อยตัวถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังใช้ในการปลดรายชื่อออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรที่มีผลต่อการเดินทางไปต่างประเทศ หากทำหายต้องแจ้งความ และติดต่อกรมราชทัณฑ์ออกใบบริสุทธิ์ฉบับใหม่ อีกทั้งเมื่อเจ้าพนักงานเรือนจำ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เรียกให้นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษแสดงหนังสือสำคัญ หากไม่แสดง สามารถจับส่งเรือนจำได้ เป็นไปตามบทบัญญัติ ข้อ 51 กฎกระทรวงกําหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562

แหล่งข่าวภายในกรมราชทัณฑ์ เผยว่า ใบบริสุทธิ์มีขนาดเท่าปฏิทินตั้งโต๊ะ มีรายละเอียดระบุชื่อ-สกุลผู้พ้นโทษ เหตุทางคดีที่ต้องโทษ พร้อมระยะเวลาที่รับโทษเกิดขึ้นและสิ้นสุดเมื่อใดอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม โดยพฤตินัยไม่มีความจำเป็นต้องพกติดตัวตลอดชีวิต เพราะได้ใช้แค่ช่วงแรกเพียงเท่านั้นเมื่อต้องแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และสำหรับนายทักษิณ ที่จะได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ กรมราชทัณฑ์ จะออกเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งให้ไว้แก่อดีตนายกฯ เพื่อไว้แสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากต้องทำกิจกรรมใดที่จำเป็นต่อการตรวจสอบประวัติอาชญากร ส่วนอีกฉบับจะถูกเก็บไว้ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี.