ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด เช่น สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เป็นเวลานาน ได้รับสารพิษจากการสัมผัสสารแอสเบสตอส หรือแร่ใยหินที่มักพบในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ที่เป็นโรคปอด หรือปัจจัยอื่นๆ อาทิ อายุเพิ่มขึ้น ภาวะขาดวิตามินเอ พันธุกรรม รวมไปถึงการใช้ยาเสพติดบางประเภท
นพ.ศุภกร ศรีหัตถผดุงกิจ ศัลยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและทรวงอก ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่าโรคมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา ซึ่งจะแสดงอาการต่อเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 แล้ว ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้ 1. มีอาการไอเป็นระยะเวลานาน ไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะปนเลือด 2. เหนื่อย 3. หายใจไม่สะดวก 4. มีอาการเบื่ออาหาร 5. น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ และ 6.ปอดอักเสบ
ปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดสามารถรักษาได้หลากหลายวิธี โดยพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณาตำแหน่งขนาด และระยะของเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งออก ซึ่งจะมีการผ่าตัดหลายวิธี เช่น การส่องกล้องแบบแผลเดียว เรียกว่า Uniportal VATS เป็นการเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 5 ซม. 1 จุด เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือพิเศษเข้าไปทำการผ่าตัด พร้อมส่งภาพมายังจอรับภาพ ภาพที่ได้มีความคมชัดมากขึ้น สามารถเข้าไปผ่าตัดในจุดเล็กๆ เพื่อตัดเนื้อปอดหรือกลีบปอดที่มีปัญหา รวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้องออกไป
“การผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียวจะกระทบกระเทือนอวัยวะภายในน้อย มีความปลอดภัยในการผ่าตัด และยังสามารถรักษาโรคที่มีความซับซ้อน อาทิ มะเร็งปอดระยะแรก (ระยะที่ 1 และ 2) ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด ก้อนเนื้อในปอด เนื้องอกในช่องอกชนิดอื่นๆ เช่น เนื้องอกต่อมไทมัส เป็นต้น ซึ่งประโยชน์ของการผ่าตัดแผลเล็ก จะทำให้เจ็บบริเวณบาดแผลน้อยกว่า ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อยกว่าผ่าตัดแบบเปิดแผล ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีการฉายรังสีเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็ง การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย หลังการรักษา แพทย์จะนัดติดตามอาการ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและป้องกันการเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรักษานั้น เป็นการดูแลตัวเองที่ปลายทาง เนื่องจากโรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่มีความรู้มากแล้วเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรค นั่นหมายถึงโอกาสที่เราจะหลีกเลี่ยงการป่วยได้ อย่างเรื่องของควันบุหรี่ หรือไอบุหรี่ฟ้า ซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบัน เราสามารถหลีกเลี่ยงมันได้ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกลับพบว่า คนไทยมีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า แม้ว่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่กลับพบคนสูบเกลื่อนเมืองโดยไม่แคร์สายตาใคร จนคนที่ไม่สูบต่างหาที่กลับต้องอาย และหลบเลี่ยงไป
มาว่ากันต่อในความสามารถในการก่อโรคของมัน ทาง ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่า มีงานวิจัยพบว่า ในบุหรี่มีสารนิโคติน และสารเคมีอันตรายต่อปอด และอวัยวะของคนเราจำนวนมาก แม้จะสูบวันละน้อย ๆ เพียง 1 ถึง 4 มวน หรือสูบไม่ทุกวัน ความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือดก็เพิ่มขึ้นหลายเท่า เมื่อเทียบกับคนไม่สูบ รวมทั้งความเสี่ยงเสียชีวิตจากทุกโรคก็เพิ่มขึ้น
นอกจากส่งผลต่อตัวคนสูบแล้วยังส่งผลต่อคนรอบข้างที่ได้รับสารอันตรายนั้นด้วย แม้จะสูบน้อย หรือได้รับครั้งละน้อยๆ ก็มีความเสี่ยง ดังนั้นไม่อยากขึ้นเตียง รักษามะเร็งปอด เลี่ยงได้ควรเลี่ยงบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า แล้วเปลี่ยนเงินที่เอาไว้ใช้ซื้อบุหรี่เหล่านั้นไปซื้อของอร่อยๆ กินกับครอบครัวจะเกิดประโยชน์มากกว่า.