เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงการพิจารณาคดี 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกลที่ลงชื่อแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเสร็จสิ้นแล้ว ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติสั่งไต่สวนแล้ว ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีมูลเบื้องต้น ซึ่งในกระบวนการไต่สวนนั้น ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหา ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา  และนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง และหลังจากที่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจง จากนั้นจะมีการสรุปสำนวน เสนอต่อคณะกรรมการ  ป.ป.ช.พื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

ส่วนกรอบเวลาในการพิจารณานั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะต้องดูความพร้อมของทั้ง 44 สส. ที่จะมาให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช. นอกจาก 44 สส.แล้ว ยังมีบุคคลอื่นที่มีความเกี่ยวข้อง  เช่น  บุคคลที่เป็นผู้แทนของรัฐสภาที่มีการเสนอ หรือที่รู้เห็น โดยจะต้องสอบเพิ่มเติม เพื่อให้รู้ถึงเจตนารมณ์ และกฎหมาย ป.ป.ช.ก็เปิดโอกาสให้ขยายระยะเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น เช่น เจ็บป่วยมาไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะหายเมื่อไหร่ หากหายแล้วก็ต้องมาให้ถ้อยคำ เพราะฉะนั้นเวลาที่ประมาณการจริงๆ ตนกำหนดไว้ประมาณคร่าวๆ 6 เดือน สอดคล้องกับในหลักการที่ให้ไต่สวนพยานหลักฐานภายใน 6 เดือน

ทั้งนี้ในเบื้องต้นอาจจะไม่ต้องมาทั้ง 44 คนหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า อาจจะต้องให้ชี้แจงทั้ง 44 คนก่อน แต่การชี้มูลว่าใครจะผิด เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงความเห็น แต่ผู้ที่จะพิจารณาวินิจฉัย คืออำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเป็นผู้พิจารณา

เมื่อถามถึงกรณีมีนักวิชาการวิเคราะห์ว่าคณะกรรมการ  ป.ป.ช.จะยกเรื่องดังกล่าวให้ศาลพิจารณานั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า คงไม่ทำเช่นนั้น เพราะกระบวนการยุติธรรม ต้นทางต้องยุติธรรม มิเช่นนั้นก็ไม่ต้องมีคณะกรรมการ  ป.ป.ช. แต่ส่งเรื่องไปให้ศาลตัดสินเลย โดยที่ไม่ต้องกลั่นกรอง ดังนั้นการที่มีพนักงานสอบสวน มีอัยการ และมีศาล เพื่อให้แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดนั่นคือ การกลั่นกรอง ป.ป.ช. มีหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา และผู้ร้อง และเมื่อได้รับความเป็นธรรมแล้ว ก็ให้อัยการกรองอีกครั้งว่า สิ่งที่  ป.ป.ช. ทำมาถูกต้องหรือไม่  มีข้อสังเกตอย่างไร หากมีข้อสังเกต ก็ตั้งคณะกรรมการร่วมกันและส่งไปยังศาล ซึ่งลำดับขั้นตอนของศาล ก็จะมีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา เพื่อกลั่นกรอง นี่คือกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด  ขอให้มั่นใจว่า  ป.ป.ช.ทำเต็มที่ ไม่ทำชุ่ยๆ และส่งไปโดยใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว

ส่วนที่มีการชี้แจงว่า การแก้กฎหมายเป็นหน้าที่ของ สส.มีอำนาจเสนอได้ แค่เซ็นเอกสารและยังไม่ได้ดำเนินการนั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า นั่นคือข้อชี้แจง ตนไม่แน่ใจว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีการยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยด้วยหรือไม่ และศาลได้วินิจฉัยหรือไม่  และไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณาเป็นอื่นได้หรือไม่ ต่อคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งนี่คือประเด็นตัวอย่าง แต่หากไม่มี ป.ป.ช.จะวินิจฉัยว่า สิ่งที่กล่าวอ้างมาโอเคหรือไม่หรือเห็นถึงเจตนาหรือไม่

นายนิวัติไชย กล่าวย้ำว่า  ในมาตรฐานจริยธรรมของ ป.ป.ช. มีเรื่องการปกป้องอธิปไตยความมั่นคง เรื่องระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ก็จะล่วงล้ำไม่ได้  หรือไม่เคารพไม่ได้