สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ว่านายโยชิฟูมิ มัตสึมูระ รมว.บริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี ยกเลิกคำเตือน “อภิมหาแผ่นดินไหว” หรือ “แผ่นดินไหวครั้งใหญ่” (Megaquake) เนื่องจากภายในช่วงระยะเวลานี้ ผู้เชี่ยวชาญไม่พบแนวโน้ม “การเคลื่อนที่ผิดรูปแบบ” ของแผ่นเปลือกโลก และแนวโน้มการเกิดกิจกรรมคลื่นไหวสะเทือน


อย่างไรก็ตาม มัตสึมูระกล่าวว่า การยกเลิกคำเตือนภัยดังกล่าว “ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงหมดไป” ภาครัฐให้ประชาชนดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ บนพื้นฐานของการตระหนักรู้ และตื่นตัวอยู่เสมอ “แต่ไม่ตื่นตระหนก”


อนึ่ง สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (เจเอ็มเอ) ออกประกาศเตือนเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังภูมิภาคคิวชู ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรง 7.1 แมกนิจูด ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 15 คน เกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศ “ในระดับสูงกว่าปกติ” โดยเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ภายใต้ระบบใหม่ ซึ่งได้รับการปรับปรุงหลังแผ่นดินไหวรุนแรง 9.0 แมกนิจูด เมื่อปี 2554 ที่ตามด้วยสึนามิขนาดยักษ์ และภัยพิบัตินิวเคลียร์เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ


ทั้งนี้ พื้นที่เสี่ยงตามการวิเคราะห์ของเจเอ็มเอ คือ บริเวณที่เรียกว่า แอ่งนันไก หรือ แอ่งนันไค เป็นร่องน้ำลึกรูปในเขตทะเลทางใต้ของญี่ปุ่น​ ครอบคลุมหลายจังหวัดของภูมิภาค​ชิโกกุ โดยรอยเลื่อนบริเวณนี้มีความยาวมากกว่า 800 กิโลเมตร


แม้เนื้อหาในรายงานฉบับดังกล่าวเตือนว่า “แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มีมากขึ้นกว่าปกติ” แต่เจเอ็มเอเน้นย้ำ ว่าไม่ได้หมายความว่า “แผ่นดินไหวรุนแรงจะต้องเกิดขึ้นในท้ายที่สุด”.

เครดิตภาพ : AFP