คือ การเข้าถึงพลังงาน การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน และการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ทุก ๆ 4 เดือนคนไทยต้องมาลุ้นค่าไฟกัน

ณ เวลานี้ต้องมาลุ้นกันว่า อัตราค่าไฟฟ้างวดแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 68 จะเป็นอย่างไร ณ เวลานี้ หากมองถึงปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราค่าไฟในงวดหน้า ถือว่า มีปัจจัยบวกจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกอ่อนตัวลง แถมการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้น ต้องมาดูว่า ภาคนโยบายจะมีการจับเข่าคุยกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. เพื่อหาทางออกชำระหนี้แสนล้านได้อย่างไร เพื่ออานิสงส์ให้สามารถตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 68 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี 67 คนไทยที่กำลังเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีตัวช่วยในการลดภาระค่าครองชีพ โดยจะได้จ่ายอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 เท่าเดิมอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับกลุ่มเปราะบางที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อหน่วยก็คงอัตราค่าไฟไว้เท่าเดิม 3.99 บาทต่อหน่วย

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 31/2567 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟทีอยู่ในระดับ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย

หากมองข้ามสถานการณ์ค่าไฟฟ้าไปถึงปี 2568 ถือว่าเป็นข่าวดีที่เริ่มเห็นสัญญาณของราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในตลาดโลกอ่อนตัวลงกว่าเดือนธันวาคม 2567 ขณะที่การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปป้อนให้กับโรงไฟฟ้า

โดย “พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า สถานการณ์ปกติเมื่อเข้าสู่ช่วงต้นปีราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่มีราคาสูง เนื่องจากประเทศในแถบยุโรปอยู่ในช่วงฤดูหนาวต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากเพื่อสร้างความอบอุ่น ดังนั้น ราคาแอลเอ็นจี ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 68 มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 ที่มีราคาอยู่ที่ 13 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นสัญญาณบวกที่จะได้เห็นค่าไฟงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 68 สามารถตรึงอยู่เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วยได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเชื้อเพลิงที่มั่นคงมีราคาถูก เข้ามาป้อนโรงไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงทางเลือกในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือไฟฟ้าจากพลังงานนํ้า ก็จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้

อย่างไรก็ตามความเหมาะสมของอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงการหาทางออกหนี้คงค้างที่มีจำนวนกว่า 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการชำระคืนค่าไฟให้กับ กฟผ. จำนวน 95,000 ล้านบาท และค่าเชื้อเพลิงให้กับ กฟผ. และ ปตท. จำนวน 15,000 ล้านบาท ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน มีนโยบายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ประกอบด้วย ผู้แทนจากรัฐบาล, ผู้แทนจากด้านนโยบาย, กระทรวงพลังงาน, กฟผ. และ ปตท. เพื่อพิจารณาหาทางออกในการแก้ปัญหาหนี้ให้ดีที่สุด

“กกพ. ตระหนักถึงระยะเวลาในการชำระหนี้คืน กฟผ. จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระเงินกู้ของ กฟผ. รวมถึงการถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินด้วย จึงจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาให้มีความเหมาะสม โดยยึดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ประชาชน และผู้กำกับนโยบาย”.