กรมการข้าว เดินหน้าส่งเสริมข้าวสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง พร้อมหนุนแหล่งผลิตข้าวทั่วประเทศให้มีศักยภาพในการพัฒนาการแปรรูป การพัฒนาสายพันธุ์ข้าว และการยกระดับแบรนด์สินค้า โดยโชว์ตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์แปรรูป และใช้ประโยชน์จากเมล็ดพันธุ์ข้าว “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา แหล่งปลูกข้าวที่มีความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเพาะปลูกข้าวคุณภาพได้ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ (กข15 และกข105) ข้าวกล้อง ข้าวมะลิแดง ข้าวก่ำ และข้าวไรซ์เบอรี่ ทั้งนี้ ในปัจจุบันชุมชนได้มีการจำหน่ายข้าวภายใต้แบรนด์ “สร้อยศรี” ข้าวอินทรีย์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องรสชาติ สารอาหาร และคุณภาพที่ตรงใจกับผู้นิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งได้มีการแปรรูปเป็นสินค้าชนิดต่าง ๆ อาทิ ข้าวบรรจุถุง ข้าวพองกรอบเคลือบช็อกโกแลต เวย์ข้าวโปรตีนผสมธัญพืช 9 ชนิด อีกทั้งยังสามารถนำสินค้าก้าวสู่
ช่องทางการขายออนไลน์และกลุ่มโมเดิร์นเทรด
นายโอวาท ยิ่งลาภ ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวมุ่งสนองนโยบายรัฐบาล รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าข้าวให้มีมูลค่าสูง ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ สินค้านวัตกรรม การบริการ และทำการต่อยอดข้าวออกสู่ช่องทางตลาดต่าง ๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยยังส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในกระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้มากขึ้น โดยมี “โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตรและแผนการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงตลาด ปี 2567” เป็นโครงการสำคัญ ซึ่งโครงการนี้จะมุ่งทำงานกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างเข้มข้น และมุ่งเน้นให้แต่ละพื้นที่พัฒนาข้าวให้กลายเป็นสินค้าพรีเมียม เชื่อมโยงกับตลาดที่มีศักยภาพทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ โมเดิร์นเทรด และทำให้เกิดแบรนด์ที่น่าจดจำจากแต่ละชุมชน
หนึ่งในชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวของภาคเหนือคือ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ซึ่งพื้นที่แห่งนี้มีความโดดเด่นในการผลิตข้าวได้หลากสายพันธุ์จากความอุดมสมบูรณ์ทางภูมิศาสตร์ในการปลูกข้าว ด้วยดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำที่มีส่วนประกอบจากหินภูเขาไฟและหินตะกอนชนิดต่าง ๆ ซึ่งพบบริเวณพื้นที่ราบหรือค่อนข้างราบระหว่างหุบเขา ดินมีการระบายน้ำเลวเนื้อละเอียด ซึ่งเหมาะแก่การปลูกข้าว ประกอบกับการมีแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ถูกพัดพามาจากน้ำแม่อิงส่งผลให้ผลผลิตข้าว จังหวัดพะเยามีความหอม รสชาติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และความหลากหลายทางสายพันธุ์ข้าวยังเป็นข้อได้เปรียบในการต่อยอดไปสู่ผู้บริโภคที่มีหลากหลายไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างของชุมชนที่สร้างมูลค่าจากการใช้กรรมวิธีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสอดคล้องกับในช่วงสองปีที่ผ่านมามูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 27% (มูลค่าปี 2565 อยู่ที่ 9,169.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 7,127.63 ล้านบาท) มีการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์กว่า 4% รวมถึงผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
นายโอวาท กล่าวเพิ่มเติมว่า วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลจุนได้เข้าร่วมหลากหลายโครงการตามกิจกรรมสนับสนุนของกรมการข้าวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปี 2557 ได้รับการสนับสนุนเครื่องเป่าทำความสะอาดข้าวและเมล็ดพันธุ์แบบติดตั้ง ต่อมาในปี 2561 รับการสนับสนุนรถตักข้าว จำนวน 2 คัน และปี 2563 ได้รับการสนับสนุนเครื่องเป่าทำความสะอาดข้าวและเมล็ดพันธุ์แบบเคลื่อนที่ โดยจากการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องได้ช่วยให้คนในชุมชนมีความสะดวกในหลากกระบวนการผลิตข้าวที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมยังช่วยตอกย้ำให้ชุมชนรู้จักช่องทางการขายหรือแนวทางการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการตลาดและผู้บริโภค
นางสาวชัญญาณัฐ พระวิสัตย์ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน เปิดเผยว่ากรมการข้าวได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้สมัยใหม่ในการผลิตข้าว รวมถึงการเพิ่มมูลค่าข้าวในทางการค้าเชิงพาณิชย์ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อยกระดับข้าวพื้นเมืองให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล ซึ่งผลิตภัณฑ์ข้าวของวิสาหกิจชุมชนเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดและผู้บริโภค มีข้าว5 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ (กข15 และกข105) ข้าวกล้อง ข้าวมะลิแดง ข้าวก่ำ และข้าวไรซ์เบอรี่ ด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี จึงต่อยอดความต้องการของตลาดและขยายพันธุ์ข้าวในวิสาหกิจชุมชน โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคู่ในการเป็นศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน เพื่อให้เกษตรกรได้มีพันธุ์ข้าวให้เลือกเพาะปลูก ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ เพิ่มผลผลิตลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี
“วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลจุน ประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 1,000 คน200 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 1,000-2,000 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น เกษตรกรทำนาปีละ 1 ครั้ง มีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือน พฤษภาคม – ตุลาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 650 กิโลกรัม/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 50 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 15,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวหอมมะลิ โดยนอกเหนือจากความโดดเด่นในการเพาะปลูกข้าวได้หลากหลายสายพันธุ์แล้ว วิสาหกิจยังมีความพร้อมในการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคด้วยกำลังการผลิตที่สูง ผ่านผลิตภัณฑ์ข้าวที่ออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์สร้อยศรี ซึ่งแบรนด์นี้มุ่งใช้กลยุทธ์ที่สำคัญทั้งความเป็นข้าวพรีเมียม ความเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ผลิตจากแหล่งเพาะปลูกคุณภาพบนพื้นที่สูง ไม่มีการใช้ยาหรือสารเคมี และมีสุดยอดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของข้าวทั้ง 5 ชนิดที่หารับประทานได้ยาก มีความหอม นุ่ม เหนียว อร่อย รับประทานกับอาหารได้หลากหลายประเภท”
นางสาวชัญญาณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าข้าวในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นสินค้าพรีเมียมเพื่อส่งต่อไปถึงผู้บริโภค ได้แก่ ข้าวบรรจุถุง ข้าวพองกรอบเคลือบช็อกโกแลต เวย์ข้าวโปรตีนผสมธัญพืช 9 ชนิด แป้งข้าวอินทรีย์ และข้าวแต๋น ที่หลากหลายรสชาติ ผสมผสานการตกแต่งให้น่ารับประทาน โดยได้สร้างผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปในชุมชนให้เป็นที่รู้จัก ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ข้าวหอมสร้อยศรี” เช่นเดียวกับข้าวสำเร็จรูป การันตีด้วยรางวัลข้าวดีเด่น ปี 2543 และปี 2544 กับโล่รางวัลชนะเลิศประเภทข้าวหอมมะลิดีเด่นระดับประเทศ อีกทั้งยังได้ผลักดันผลิตภัณฑ์ข้าวให้ก้าวสู่สินค้าโมเดิร์นเทรดสำหรับผู้ประกอบการห้าง ค้าปลีก และค้าส่ง เพื่อนำไปจัดจำหน่าย อาทิท็อปส์ เดลี่ สาขา พะเยา และห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ทั้งนี้ พร้อมเดินหน้ายกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดที่ครบวงจรการจัดจำหน่าย ผ่านออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น