“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.68 หมื่นล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ล่าช้ากว่าแผนงานที่วางไว้ โดยมีความคืบหน้า 4.84% ล่าช้าประมาณ 16% สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. เริ่มงานวันที่ 16 มี.ค. 66 คืบหน้า 9.51% ล่าช้า 13.57% มีกิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ผู้รับจ้าง สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. เริ่มงานวันที่ 21 เม.ย. 66 คืบหน้า 0.18% ล่าช้า 15.58% มีกิจการร่วมค้า ยูนิค เป็นผู้รับจ้าง
ปัญหาหลักที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ทางผู้รับจ้างให้เหตุผลว่า พื้นที่การก่อสร้างที่ รฟท. ส่งมอบให้ ไม่เป็นพื้นที่ติดต่อกันตั้งแต่ 5 กม.ขึ้นไป จึงยังไม่นำแรงงาน และอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ เข้าพื้นที่ก่อสร้าง เมื่อตรวจสอบกับ รฟท. แจ้งว่า ขณะนี้ได้ส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างให้ผู้รับจ้างแล้วประมาณ 60-70% มีพื้นที่ที่ผู้รับจ้างสามารถเข้าทำงานได้จำนวนมาก รฟท. พยายามเร่งส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนครบทั้ง 100% ภายในปี 67 โครงการนี้มีพื้นที่ใน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม ที่จะถูกเวนคืนที่ดินประมาณ 8,000 แปลง ประมาณ 1.5 หมื่นไร่ ใช้งบประมาณเวนคืนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
ได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างเข้าพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อให้งานแล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้ โดยโครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี สัญญาที่ 1 วงเงินก่อสร้าง 2.70 หมื่นล้านบาท มีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 70 ส่วนสัญญาที่ 2 วงเงิน 2.83 หมื่นล้านบาท มีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 70 และพร้อมเปิดบริการภายในปี 70 หากผู้รับจ้างไม่สามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามแผนงาน ต้องจ่ายค่าปรับให้ รฟท. วันละ 0.1% ของค่างานก่อสร้าง โดยสัญญาที่ 1 ประมาณวันละ 27 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ประมาณวันละ 28 ล้านบาท
ยังมีเวลาอีกเกือบ 3 ปี ที่ผู้รับจ้างทั้ง 2 สัญญา ต้องเร่งงานให้แล้วเสร็จตามแผน ขณะนี้บางสัญญา ได้ระดมแรงงานไปช่วยงานก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้ช่วงเดือน ต.ค. 67 หากเสร็จไม่ทันตามกำหนด ต้องจ่ายค่าปรับให้ รฟท. จึงมั่นใจว่าหลังจากการก่อสร้างทางคู่สายเหนือแล้วเสร็จ งานการก่อสร้างทางคู่สายใหม่ สายอีสาน จะเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เต็มที่ รวดเร็ว แล้วเสร็จตามแผนงาน โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายอีสานบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ผ่านพื้นที่ 70 ตำบล 16 อำเภอ 6 จังหวัด มีสถานีรถไฟ 30 สถานี (18 สถานี 12 ป้ายหยุดรถ) และ 1 ชุมทางรถไฟ ทางวิ่งมีทั้งระดับดิน และยกระดับ มีลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองตู้สินค้า 3 แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก จ.ขอนแก่น สำหรับซ่อมวาระเบา และซ่อมวาระปานกลาง ส่วนวาระหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์ มีการออกแบบสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) 81 แห่ง และทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) 245 แห่ง.