จากกรณีข่าวศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยมีมติ 5 ต่อ 4 ในคดีร้องจากสมาชิกวุฒิสภาการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดยส่งผลให้ เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะการกระทำฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) โดยเศรษฐานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพียง 358 วัน ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

ซึ่งต่อมาด้านอดีตพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นหลังศาลอ่านคำวินิจฉัย ไม่เห็นด้วย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เศรษฐา ทวีสิน พ้นนายกรัฐมนตรี เรื่องจริยธรรมควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ศาล-องค์กรอิสระ ผูกขาดตีความ เหตุการณ์วันนี้เป็นสัญญาณ ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญ ทบทวนอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์ครอิสระ

ต่อมาด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ก็ได้ออกมาแชร์เพจของ พรรคก้าวไกล หรือ พรรคประชาชน พร้อมเขียนข้อความระบุว่า

อันนี้ดีครับ แสดงจุดยืนได้ดี ที่พรรคประชาชน (ก้าวไกล) ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย กับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวาน ผมก็เพิ่งให้สัมภาษณ์นักข่าว เกี่ยวกับเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก้าวไกลไปเหมือนกันครับ ว่าไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ให้มีอำนาจมากมายล้นฟ้า ขนาดยุบพรรคการเมืองที่ประชาชนจัดตั้งกันขึ้นมา หรือแม้แต่การให้นักการเมืองพ้นจากตำแหน่ง

คือต้องเข้าใจว่า แต่แรกเดิม การมีระบบตุลาการรัฐธรรมนูญเข้ามานั้น เพียงแค่เพื่อช่วยในการตัดสินชี้ขาด กรณีเกิดความขัดแย้งในการใช้รัฐธรรมนูญขึ้นมา ระหว่างองค์กรต่างๆ เท่านั้น จะเห็นว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการ ก็มีทั้งที่เป็นตุลาการอยู่ และที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ รวมทั้งกลไกการพิจารณาตัดสิน ก็ค่อนข้างจะรวบรัด ไม่ได้มีรูปแบบในการไต่สวน หาข้อมูลหลักฐาน จนยืนยันได้ถึงความบริสุทธิ์หรือไม่ แบบที่ศาลยุติธรรมใช้กันอยู่

แต่หลังจากนั้น เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นตามมาหลายครั้ง ทำให้เข้าสู่กระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ปรับโครงสร้างกับกฎหมาย จนเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงมาก เหนือกว่า 3 องค์กรหลักทางประชาธิปไตย ที่เราเคยเรียนกันมา อย่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เสียอีก นำไปสู่การตัดสินคดีความหลายครั้ง ที่เป็นที่กังขาว่า มีการใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตหรือไม่ บทเรียนที่เกิดขึ้นกับฝ่ายการเมืองอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตาม หวังว่าจะทำให้กลับมาทบทวนกันได้แล้ว ถึงความผิดปกติบิดเบี้ยว ของรัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่นะครับ…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Jessada Denduangboripant