ที่โรงแรมลากูน่าแกรนด์ แอนด์ สปา ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา พันเอก สุพจน์ โพยนอก หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อ “ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนกับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้“ให้กับข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร สายงานป้องกันและปราบปราม และสายงานสืบสวน ข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตร และข้าราชการฝ่ายปกครอง ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 106 นาย ตามโครงการบูรณาการสามฝ่ายด้านการบังคับใช้กฎหมาย รุ่นที่ 2 จัดโดยงานกฎหมายและสอบสวน กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับการอบรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้บรรยายให้ความรู้ถึงความหมายและหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หลักการปารีส บทบาท หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และบทบาท หน้าที่ของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ในการส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนตระหนักในสิทธิมนุษยชนและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน แนวทางการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงและการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การปิดล้อมตรวจค้น การจับกุม การสืบสวนสอบสวน การควบคุมตัว และกรณีตัวอย่างการปฏิบัติที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองในการปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งจะเป็นหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
โดยมีข้าราชการตำรวจที่เข้ารับการอบรมได้เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไข ปรับปรุงระเบียบ กฎหมายเพื่อกำหนดให้มีการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) พร้อมกับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรก และปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนได้ให้ข้อมูลสนับสนุนการจัดเก็บตัวอย่างและตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้กับบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือคนไทยไร้สัญชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และฝั่งประเทศมาเลเซีย เพื่อประกอบการออกสูติบัตร หรือดำเนินการทำบัตรประจำตัวประชาชนใบแรกให้กับบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรหรือคนไทยไร้สัญชาติในโอกาสต่อไป
ในการนี้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้เข้ารับการอบรมติดตามข้อมูลข่าวสาร ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสำนักงาน กสม. พร้อมทั้งเชิญชวนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ผ่านช่องทาง Facebook ทั้งนี้ สามารถแจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่องทางต่าง ๆ เช่น ร้องเรียนเป็นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ร้องเรียนทางเว็บไซต์ หรือทางโทรศัพท์สายด่วน 1377