สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ว่า ตัวเลขสัตว์ติดเชื้อโรคบลูทังก์ พุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศของทวีปยุโรป ส่งผลให้เกษตรกรหวั่นผลกระทบต่อแกะและวัว

ไวรัสบลูทังก์ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เป็นโรคที่ติดต่อผ่านแมลงสู่แกะและวัว แต่ไม่ส่งผลต่อหมูหรือม้า และควบคุมได้ยากหากลุกลาม การระบาดระลอกปัจจุบัน เกิดขึ้นที่เนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ก่อนแพร่กระจายไปยังเบลเยียม, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร และระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป ผ่านการแพร่กระจายโดยตัวริ้น

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์พบพื้นที่ติดเชื้อ 2,909 แห่ง ตามรายงานของหน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 650 แห่ง

ในเยอรมนี พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 1,885 ครั้ง เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ตามรายงานของสถาบันฟรีดริช เลิฟเฟลอร์ ของเยอรมนี (เอฟแอลไอ) เทียบกับทั้งปี 2566 ซึ่งพบการติดเชื้อเพียง 23 ครั้ง

ด้าน อีเอสเอ แพลตฟอร์มติดตามการระบาดในสัตว์ของฝรั่งเศส รายงานว่า เบลเยียมตรวจพบสัตว์ติดเชื้อ 515 ตัว ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-11 ส.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ไวรัสบลูทังก์ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่จะส่งผลให้สัตว์มีไข้สูง, เกิดแผลในปาก และหัวบวม

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) รายงานว่า ฝรั่งเศส, ลักเซมเบิร์ก และเดนมาร์ก ตรวจพบเคสสัตว์ป่วยไวรัสบลูทังก์ครั้งแรก เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

ไวรัสบลูทังก์ เป็นอันตรายถึงชีวิตแค่เฉพาะกับแกะ และส่งผลให้การผลิตนมในวัวลดลงอย่างมาก ตรงกันข้ามกับโรคไข้หวัดนก ที่ต้องกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ สัตว์ที่ติดเชื้อบลูทังก์ อาจมีอาการน้ำลายไหลมากเกินไป, ริมฝีปาก ลิ้น และขากรรไกรบวม และบางตัวอาจมีอาการแท้ง

โรคบลูทังก์สายพันธุ์ 4 และ 8 พบในยุโรปมานานหลายปี และสามารถรักษาโดยวัคซีนได้ แต่ยังไม่เพียงพอจะรับมือกับการระบาดได้ “ฝรั่งเศสเริ่มรณรงค์การฉีดวีคซีนเพื่อลดการระบาดให้เร็วที่สุด” นายสเตฟาน ซีเอนทารา จากสำนักงานอาหาร สิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของฝรั่งเศส กล่าว.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES