เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 14 ส.ค. ที่รัฐสภา นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการติดตามและศึกษาคดีฉ้อโกง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขอแถลงผลการพิจารณาศึกษา คดีฉ้อโกง โดยระบุว่า​ จากผลการดำเนินการของคณะกรรมาธิการติดตามผลได้ทำงานเสร็จสิ้นแล้ว​ และส่งรายงานฉบับสมบูรณ์​ โดยผลสรุปทางตลาดหลักทรัพย์​ หรือ​ ก.ล.ต.​ ได้ร้องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ​ หรือ​ ดีเอสไอ​ ส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้อง​ 11 ราย​ ทั้งส่วนบุคคล​ และนิติบุคคล​ คือบริษัทในเครือ โดยมีการตั้งข้อสังเกตไว้​ 16 ข้อ ที่สรุปไว้ในรายงาน​ อาทิ

โดยคณะกรรมาธิ​การฯ​ มีข้อสังเกต​ว่า​ ต้องส่งสัญญาณ​ไปยัง ดีเอสไอ​ และ​ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน​ หรือ​ ปปง.​ ซึ่งมี​ 1 รายสำคัญ​ นายชินวัตร​ อัศวโภคี​ ที่ถูกกันไว้เป็นพยาน​และไม่ถูกสั่งฟ้องเด็ดขาด​ ซึ่งภายหลัง​ มีการซื้อหุ้นบริษัทหนึ่งมูลค่า​ 650 ล้าน​ ผ่านนักร้องอักษรย่อ​ ข​. (ขันเงิน) จึงอยากตั้งคำถามว่าเหตุใด​ ปปง. หรือดีเอสไอ​ ยังไม่ได้ตรวจสอบว่า​ เงิน​ 650 ล้าน​ ที่มีการอ้างว่าเป็นเงินกู้จากสิงคโปร์​และเงินส่วนตัว​นั้น เกี่ยวข้องกับการทุจริตของผู้บริหารหรือไม่​

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกต​ กรณีการไม่ดำเนินคดีกรรมการในฐานะส่วนตัว​ ทั้ง ๆ ที่มีการดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าวในฐานะนิติบุคคล ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงว่า กรรมการบางคนของบริษัทดังกล่าว ถูกดำเนินคดีในคดีหลักแล้ว จึงไม่ต้องดำเนินคดีในกรณีดังกล่าวอีก ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องของการกระทำที่อาจเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นข้อพิจารณาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้ให้ความสำคัญในการมีความเห็นทางคดีในลักษณะเช่นนี้

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการ​ มองว่า​ การเสนอให้มีหุ้นกู้ก็ดี เป็นที่เข้าใจได้ว่า การซื้อหุ้นกู้จะไม่มีหลักประกัน แม้ว่าหุ้นกู้เป็นการกู้ยืมเงินที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม หากพิจารณาถึงลักษณะของการขายหุ้นกู้โดยให้ดอกเบี้ยอัตราที่สูง มีลักษณะเสมือนเป็นการกู้ยืมเงินจากประชาชน ซึ่งถ้าหากบริษัทที่ขายหุ้นกู้ไม่ใช่บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ก็อาจจะเป็นการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาในลักษณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือโดยไม่มีหลักประกัน และในบางกรณีอาจเป็นการสร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมากได้

สำหรับผู้เสียหายกรณีหุ้นสตาร์คมีประมาณ 20,000 ราย มูลค่า 75,000 ล้านบาท โดยคณะกรรมาธิการหวังว่า รายงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสืบคดีต่อกระบวนการยุติธรรมต่อไป