เรามักคุ้นชินกับภาพมุขตลก หรือ ‘มีม’ ที่ถูกส่งต่อเพื่อสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กันบนโลกออนไลน์มาเป็นเวลาหลายปี แต่รู้หรือไม่? สิ่งที่สร้างความสุขเหล่านั้นใช้พลังงานไปมากเพียงใด และข้อมูลดังกล่าวที่จัดเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ซึ่งใช้พลังงานสูงอย่าง ‘คลาวด์’ จะถูกใช้งานเพียงครั้งเดียว จากนั้นจะไม่มีการเปิดใช้อีกเลย

จากการวิจัยพบว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ถูกจัดเก็บไว้ในระบบคลาวด์ คือ ข้อมูลที่ไม่ปลอดภัย’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘Dark Data’ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกใช้งานเพียงครั้งเดียวและจะไม่ถูกเปิดใช้อีกเลย นั่นหมายความว่า มีม มุกตลก และซีนจากภาพยนตร์ต่างๆ ที่เรามักแชร์ให้กับเพื่อน ครอบครัว ไปจนถึงคนรู้จัก ล้วนถูกจัดเก็บอยู่ในศูนย์ข้อมูลและดึงพลังงานเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ด้านไฟฟ้าและก๊าซของอังกฤษ อย่าง National Grid ยังคาดการณ์อีกว่า ศูนย์ข้อมูลในลักษณะคลาวด์ มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 6% จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในสหราชอาณาจักร ดังนั้นการจัดการกับข้อมูลขยะเหล่านี้จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

‘เอียน ฮอดจ์คินสัน’ (Ian Hodgkinson) ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ จากมหาวิทยาลัยลัฟบะระ (Loughborough University) ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาผลกระทบของข้อมูลขยะที่ส่งผลเสียต่อสภาพอากาศ และวิธีที่จะสามารถลดผลกระทบดังกล่าว

“นับเป็นเวลากว่า 2-3 ปีแล้ว ที่ผมพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของข้อมูลดิจิทัลที่อาจมีเชิงลบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฟังดูแล้วหัวข้อนี้อาจเป็นเรื่องที่ตอบได้ง่าย แต่ปรากฏว่ามันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ซึ่งจากการศึกษาก็พบว่าข้อมูลขยะบนออนไลน์ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ ” ฮอดจ์คินสัน กล่าว

เขาค้นพบว่า 68% ของข้อมูลที่บริษัทต่างๆ ใช้แล้ว ไม่เคยถูกนำมากลับมาใช้ซ้ำอีกเลย และแม้จะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลก็ยังคงบอกเล่าเรื่องเดิมๆ ที่เหมือนกัน

“หากเราพิจารณาตัวบุคคลและสังคมให้กว้างขึ้น เราจะพบว่าหลายคนยังคิดว่าข้อมูลนั้นเป็นคาร์บอนที่เป็นกลาง แต่ข้อมูลทุกชิ้นไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ข้อความต่างๆ ไปจนถึงโพสต์บนอินสตาแกรม หรืออะไรก็ตาม สิ่งเหล่านั้นล้วนมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์”

ให้ลองนึกภาพตามว่า เมื่อเราจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ เรามักจะนึกถึงเมฆก้อนสีขาวฟูฟ่อง ที่เต็มไปด้วยหมู่มวลข้อมูลต่างๆ ลอยอยู่ในบนอากาศ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เมฆดังกล่าวคือศูนย์ข้อมูลที่มีอุณหภูมิสูง เสียงดัง และยังกินพลังงานเป็นจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ

ฮอดจ์คินสัน อธิบายต่อว่า แม้การส่งภาพมุขตลกๆ เพียงภาพเดียว จะไม่นับเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ทว่าภาพถ่ายนับล้านที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือและภาพจากกล้องที่ไม่ได้ใช้งานของทุกคนบนโลกนั้น ส่งผลต่อการใช้พลังงานจำนวนมหาศาล ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน เคยสังเกตไหมว่า ผู้ให้บริการระบบคลาวด์และบริษัทด้านเทคโนโลยี มักจะสร้างแรงจูงใจที่จะหยุดยั้งไม่ให้ผู้คนลบข้อมูลขยะออกไป และเก็บไว้เป็นความทรงจำ เนื่องจากยิ่งมีการจัดเก็บข้อมูลไว้มากเท่าไหร่ ผู้คนก็ยิ่งต้องจ่ายเงินเพื่อใช้ระบบของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น

“เราต่างก็คิดว่า ฉันจ่ายเงินเพื่อจัดเก็บข้อมูลเผื่อจะได้ใช้ในวันข้างหน้า ซึ่งจริงๆ ในทางปฏิบัติแล้ว เรากำลังจ่ายเงินเพื่อสิ่งที่จะไม่มีวันได้ใช้ซ้ำอีก เพราะในบางครั้งเราลืมไปด้วยซ้ำว่ามันเคยมีอยู่ และเมื่อพิจารณาถึงต้นทุนมหาศาลในแง่ของการเงิน สิ่งแวดล้อม และภาพรวมแล้ว เรายังไม่สามารถเข้าใกล้การบรรลุเป้าหมายความกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 รวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ได้” ฮอดจ์คินสัน ย้ำ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ มักแฝงไปด้วยปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ทว่าอาจยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ฮอดจ์คินสัน จึงย้ำว่า ‘ข้อมูลขยะ’ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น และจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การระเบิดตัวครั้งใหญ่ในวันข้างหน้า และแม้จะมีการคาดการณ์ว่าภายในปีหรือสองปีข้างหน้า หากมนุษย์เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ แต่นั่นก็ยังถือว่าไม่เพียงพอที่จะรองรับกับปริมาณพลังงานที่ข้อมูลต้องการได้เสมอไป

ทั้งนี้ วิธีที่จะสามารถหยุดยั้งการปล่อยคาร์บอนฯ จากปริมาณข้อมูลมหาศาลเหล่านั้น คือการส่งอีเมลขยะ หรืออีเมลที่ไร้ประโยชน์ให้น้อยลง และการหลีกเลี่ยงการกดปุ่ม ‘ตอบกลับทั้งหมด’ ประกอบกับการคำนึงดูว่า อีเมลขนาดมาตรฐานหนึ่งฉบับจะเทียบเท่าคาร์บอนฯ อยู่ที่ประมาณ 4 กรัม ซึ่งหากลองย้อนกลับไปดูปริมาณ ‘ข้อมูลเก่า’ ที่เรายังเก็บไว้ รวมถึงรูปถ่ายและไฟล์วิดีโอทั้งหมดที่มีในทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีจำนวนมากเท่าไหร่ และเมื่อตีเป็นปริมาณคาร์บอนฯ ออกมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเรากำลังถือสิ่งที่สามารถสร้างผลกระทบสะสมต่อสิ่งแวดล้อมไปแล้วมากน้อยเพียงใด

“หากเราคิดว่าอีเมลหรือข้อมูลที่เราผลิตนั้นเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ส่งผลกระทบใดๆ เราก็จะไม่ถามคำถามกับตัวเองว่า ‘ถ้าฉันทำสิ่งนี้ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร’ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การใช้ ChatGPT ซึ่งเป็นระบบ AI การจะได้มาซึ่งคำตอบของแต่ละคำถาม จำเป็นต้องใช้พลังงานสูง และสามารถนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนได้ เป็นต้น ผมจึงขอย้ำอีกครั้ง สำหรับหลายๆ คนที่เชื่อว่าการเก็บสะสมข้อมูลขยะไว้ ไม่ส่งผลเสียอะไรและเป็นกลางทางคาร์บอน นั่นไม่ใช่ความจริง ดังนั้น การถามตัวเองด้วยคำถามที่เราไม่เคยถามมาก่อน ทั้งภายในองค์กรและปัจเจกบุคคลเอง สามารถสร้างความแตกต่างครั้งใหญ่ให้กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้” ฮอดจ์คินสัน กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก: The Guardian