“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์”  รายงานว่า   สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน .ป.ป.ช.) ได้ติดตามเฝ้าระวังการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐและเอกชน 2 โครงการสำคัญ   หลังจากสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต  ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)

ขอทราบข้อเท็จจริงการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวงแผ่นดินหมายเลข31ถนนวิภาวดีรังสิต(โครงการทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์)  ระหว่างกรมทางหลวงและบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)  รวม 5 ประเด็น และทำหนังสือถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ขอทราบข้อเท็จจริงกรณีการขยายสัมปทานทางพิเศษ(ทางด่วน)ศรีรัชให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน หรือประมาณปี 2601 ใน 8 ประเด็น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567  

 โดยล่าสุดนายสราวุธ  ทรงศิวิไล  อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) ได้ทำหนังสือเรียนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องชี้แจงข้อเท็จจริงใน 5 ประเด็นตามหนังสือของสำนักงานป.ป.ช.    1. ตามที่รมว.คมนาคม ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงเจรจาคู่สัญญาสัมปทานฯปรับลดค่าผ่านทาง  กรมทางหลวงชี้แจงว่ามีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการปรับอัตราค่าผ่านทางฯเพื่อศึกษา วิเคราะห์ แนวทางและความเป็นไปได้ในการชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางของโครงการฯ ผลการศึกษาและการพิจารณาของคณะทำงานฯ เห็นว่าการปรับลดค่าผ่านทางและการขยายระยะเวลาสัมปทานเพื่อชดเชยผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท ยังไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการในขณะนี้ โดยกรมฯอยู่ระหว่างเสนอผลการพิจารณาต่อกระทรวงคมนาคม 

2.กรมทางหลวงได้ศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขสัญญาสัมปทานหรือไม่ อย่างไร และประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่  3. เนื่องจากสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2577 ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวง ทำให้รัฐสามารถกำหนดอัตราค่าค่าผ่านทางได้เองโดยไม่กระทบกับประชาชน เหตุใดกรมทางหลวงจึงไม่รอให้สัญญาสิ้นสุดแล้วดำเนินการเอง 

ทั้ง 2 ประเด็นนี้กรมทางหลวงชี้แจงว่า จากผลการศึกษาและการพิจารณาของคณะทำงานฯ เห็นควรไม่แก้ไขสัญญาสัมปทานโดยการปรับลดค่าผ่านทางและการขยายระยะเวลาสัมปทาน  4. ขอข้อมูลรายได้ของทางยกระดับดอนเมืองในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562-2566  พบว่า  ปี 62มีรายได้ค่าผ่านทาง   2,816 ล้านบาท ปี 63 จำนวน   2,047 ล้านบาท ปี 64  จำนวน 1,202 ล้านบาท ปี 65 จำนวน  1,832ล้านบาท และปี 66 จำนวน 2,325 ล้านบาท 

5. การดำเนินการตามสัญญา เป็นการใช้บังคับตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือใช้บังคับตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลที่ใช้บังคับตามปี พ.ศ. 2556  กรมทางหลวงชี้แจงว่า  ปัจจุบันสัญญาสัมปทานดำเนินการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งกรมทางหลวงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลของโครงการฯ ตามมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

สำหรับกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัชนั้น  ล่าสุดผู้ว่าการกทพ.ได้ทำหนังสือเรียนเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.ขอขยายระยะเวลาชี้แจงพร้อมจัดส่งข้อมูลไปอีก 30 วันหรือประมาณภายในวันที่ 6 ก.ย. เนื่องจากมีข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวม  ทั้งนี้สำนักเฝ้าระวังฯจะติดตามอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้ข้อยุติจากกระทรวงคมนาคม