นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทพ. ได้แจ้งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษ (ด่วน) ฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา (งานโยธา) ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 1.87 หมื่นล้านบาท ให้มาลงนามสัญญาจ้างระหว่าง กทพ. และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ แล้วภายในเดือน ส.ค. 67 หลังจาก กทพ. ประกาศผลการประมูลเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 67 และเปิดให้มีการยื่นอุทธรณ์จนถึงวันที่ 1 ส.ค. 67 ปรากฏว่า ไม่มีผู้ใดยื่นอุทธรณ์ผลการประมูลแต่อย่างใด
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า การลงนามสัญญา จะดำเนินการควบคู่ไปกับการรอให้ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตเวนคืนที่ดิน เพื่อใช้ดำเนินโครงการทางด่วนฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายก่อน ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตเวนคืนที่ดินแล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้ จากนั้น กทพ. จะเร่งดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อส่งมอบพื้นที่เวนคืนลอตแรกประมาณ 30-40% ให้เอกชนเริ่มดำเนินการก่อสร้างต่อไป
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า คาดว่าภายหลังจากลงนามสัญญาจ้างประมาณ 2-3 เดือน หรือประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย. 67 กทพ. จะสามารถส่งมอบพื้นที่โดยเฉพาะบางพื้นที่ที่ไม่ต้องเวนคืน ให้เอกชนได้เข้าพื้นที่ เพื่อเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปี 67 ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้การก่อสร้างโครงการฯ เร็วกว่าแผนที่วางไว้ก่อนหน้านี้ จากเดิมจะเริ่มก่อสร้างประมาณกลางปี 68 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือประมาณ 3 ปี แล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 71 ปรับเป็นก่อสร้างปลายปี 67 แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 70
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า โครงการทางด่วนฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา วงเงินรวม 24,060 ล้านบาท จะใช้พื้นที่เวนคืน 471 ไร่ 99 ตารางวา มีอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 134 หลัง ซึ่งจะขอรับการอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด 3,726 ล้านบาทจากรัฐบาล ส่วนค่าก่อสร้างงานโยธาประมาณ 19,838 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน รวมประมาณ 496 ล้านบาท จะใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5,960 ล้านบาทใช้เงินกู้
ทางด่วนสายนี้ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยทางด่วนสายนี้รองรับความเร็วได้ 120 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) จำกัดความเร็วบริเวณทางร่วมและทางแยกต่างระดับ ค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ 3.2 หมื่นคันต่อวัน.