นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ส.ค. 67 รฟท. พร้อมเปิดใช้งานรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม–ชุมพร แบบไร้รอยต่อ ได้ตลอดเส้นทาง รวมระยะทาง 421 กิโลเมตร (กม.) ตามนโยบายนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ที่เร่งรัดให้ รฟท. ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง ให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ตลอดเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าได้ทุกภูมิภาค
นายเอกรัช กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบความพร้อมของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงย่านสถานีนครปฐม–ประแจสับหลีก ระยะทาง 1 กม. ที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ผลการตรวจสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนการใช้ระบบทางสะดวกอิเล็กทรอนิกส์ (E-token) ในการเดินรถระหว่างที่มีการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ปัจจุบันมีความคืบหน้า 61.323% คาดว่าจะใช้งานได้เต็มระบบภายในปี 68 จะช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบการขนส่ง เส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และธุรกิจขนส่งสินค้าอื่นได้อีกด้วย
นายเอกรัช กล่าวอีกว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร นับเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางลงสู่ภาคใต้ โดยมีการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ขนาด 1 เมตร ขนานไปกับทางรถไฟเส้นเดิม เริ่มจากสถานีนครปฐม จังหวัดนครปฐม ผ่านจังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังสถานีชุมพร จังหวัดชุมพร พาดผ่านพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวของภาคกลางตอนล่าง อาทิ ชะอำ หัวหิน และเป็นประตูเชื่อมโยงไปสู่ภาคใต้
รูปแบบโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคันทางระดับดิน และทางรถไฟยกระดับช่วงผ่านตัวเมือง มีจุดแลนด์มาร์คก่อสร้างที่สำคัญพิเศษ 2 แห่ง คือ สถานีหัวหินแห่งใหม่ เป็นสถานียกระดับ มี 3 ชั้น ซึ่งมีความสวยงามสอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของสถานีหัวหินเดิม และยังมีสะพานรถไฟแบบคานขึง (Extradosed Railway Bridge) แห่งแรกของประเทศ ที่ใช้เทคนิคการก่อสร้างสมัยใหม่ หลีกเลี่ยงการก่อสร้างเสาในแม่น้ำแม่กลอง ทำให้มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ พร้อมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี
นายเอกรัช กล่าวด้วยว่า นอกจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใต้แล้ว รฟท. ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าในก่อสร้าง ดังนี้ 1. โครงการรถไฟสายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญา 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ก้าวหน้าแล้ว 12.038% สัญญา 2 ช่วงงาว–เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ก้าวหน้าแล้ว 15.055% และสัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ก้าวหน้าแล้ว 11.507%, 2. โครงการรถไฟสายใหม่ บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ก้าวหน้าแล้ว 9.512% สัญญา 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ก้าวหน้าแล้ว 0.184%
ขณะเดียวกันยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เพิ่มเติมอีก 7 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงขอนแก่น–หนองคาย อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ส่วนช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ช่วงชุมพร–สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่–สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ อยู่ในขั้นตอนเตรียมการจัดทำข้อมูล เพื่อรอเสนออนุมัติโครงการ ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ได้มีการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการ รวมถึงกำลังทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
นายเอกรัช กล่าวอีกว่า เมื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง และเส้นทางสายใหม่ 2 เส้นทางแล้วเสร็จ จะทำให้ รฟท. มีรถไฟทางคู่ครอบคลุมการเดินทางมากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ มีเส้นทางคู่รวมกันมากกว่า 2,370 กิโลเมตร ภายในปี 72 ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนทางคู่ทั่วประเทศมากถึง 10 เท่า หรือคิดเป็น 65% ของระยะทางรวมทั้งหมด มากกว่าเดิมที่มีทางคู่เพียง 6% สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าและการขนส่ง อีกทั้งช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางได้ 1–1.50 ชั่วโมง สามารถถึงจุดหมายได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ได้มหาศาล อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์
ที่สำคัญโครงการรถไฟทางคู่ยังช่วยสร้างการเติบโตของประเทศได้อีกหลายมิติ สามารถกระจายโอกาสทางสังคม เพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาค ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง ตลอดจนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเข้าด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งการรถไฟฯ มั่นใจว่าโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ครั้งนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และพลิกโฉมระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแท้จริง.