เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยอันตรายจากบุหรี่ที่ส่งผลกระทบกับผู้หญิง ว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2519 ที่เริ่มมีการสำรวจสถิติการสูบบุหรี่ พบว่า ชายไทยสูบกว่า 70% และหญิงไทยสูบ 10 % ต่อมาองค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกปี 2532 ว่า “บุหรี่มีอันตรายต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย” เพราะบุหรี่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ เด็กในครรภ์ การให้นมบุตรและการเลี้ยงลูกเล็ก ในส่วนของประเทศไทยเริ่มทำโครงการหญิงไทยไม่สูบบุหรี่ในปี 2537 ผลักดันให้รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นมีข้อสั่งการให้โรงงานยาสูบไทย ยกเลิกโครงการผลิตบุหรี่สำหรับผู้หญิง ในปี 2538

ต่อมามีการสำรวจปี 2564 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยลดลงเหลือ 1.3% แสดงว่าสังคมไทยขานรับค่านิยม หญิงไทยไม่สูบบุหรี่ แต่ล่าสุดเมื่อมีการเข้ามาของบุหรี่ไฟฟ้าก็พบวัยรุ่นหญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งยังนำมาเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ซึ่งการสำรวจจากฝ่ายต่าง ๆ ที่พบสถิติวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าใกล้เคียงกับวัยรุ่นชาย และการสำรวจระดับประเทศปี 2565 พบวัยรุ่นหญิง อายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 15% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าบุหรี่มวน 10 เท่า ของรุ่นแม่ ส่วนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้า 20.2% และคาดว่าตัวเลขปี 2567 คงจะสูงมากกว่านี้

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ความน่ากลัวที่วัยรุ่นหญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากมีแนวโน้มที่ติดแล้วจะเลิกยากยิ่งกว่าบุหรี่มวน  ในอังกฤษมีหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่จนถึงคลอดลูกปีละประมาณ 5 หมื่นคน รัฐบาลอังกฤษต้องทำโครงการพิเศษเพื่อช่วยหญิงตั้งครรภ์ในการเลิกสูบบุหรี่ ส่วนของไทย ตามคำให้สัมภาษณ์ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่กำชับไปยังพ่อ แม่ผู้ปกครองอย่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อหน้าลูก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญโดยในทางการแพทย์ การสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือบุหรี่มวน ต่อหน้าลูกทำให้ได้รับควันหรือไอมือ 2 โดยเฉพาะเด็กเล็ก มีผลเสียหลัก ๆ 2 ข้อ คือ 1. ทำให้ลูกได้รับอันตรายจากไอบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเด็กหายใจเร็วกว่า และหลอดลมมีขนาดเล็กกว่า ทำให้ได้รับสารเคมีอันตรายในจำนวนที่มากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจ เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย  อาจรุนแรงถึงปอดบวมจากเชื้อโรค เกิดการอักเสบของหูส่วนกลาง และปอดจะมีการพัฒนาน้อยลงเป็นภูมิแพ้มากขึ้น และกระตุ้นอาการหอบรุนแรงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหืด 2. เกิดการเลียนการสูบบุหรี่ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงไม่ควรสูบต่อหน้าเด็ก ทางที่ดีไม่ควรสูบมากกว่า

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลเสียต่อผิวพรรณของหญิงสาว เพราะสารนิโคตินทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังหดตัว เลือดไปเลี้ยงผิวหนังลดลง ผิวหนังได้รับสารอาหารและออกซิเจนลดลง รวมถึงสารเคมีต่าง ๆ ในไอบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดอนุมูลอิสระจำนวนมาก ที่ทำลายคอลลาเจนและอิลาสติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ผิวหนังเต่งตึงเกิดการสูญเสียไป ทำให้วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผิวแห้งกร้าน เกิดริ้วรอยเร็ว และดูแก่ก่อนวัย