สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ว่า การหยุดชะงักของแหล่งน้ำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประจำใน 5 ประเทศเอเชียกลาง ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ได้แก่ คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน ซึ่งพื้นที่ร้อยละ 80 คือทะเลทรายและทุ่งหญ้าสเตปป์

ประธานาธิบดีคาสซิม-โจมาร์ต โทคาเยฟ ผู้นำคาซัคสถาน ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ที่กรุงอัสตานา กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องพัฒนานโยบายน้ำแบบบูรณาการใหม่ โดยยึดหลักการใช้น้ำอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม และปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างเคร่งครัด

การเข้าถึงน้ำในประเทศเอเชียกลาง ยังดำรงวิถีแบบดั้งเดิมตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต และก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เนื่องจากประเทศที่มีน้ำมากกว่า จะแลกเปลี่ยนน้ำกับประเทศซึ่งมีพลังงาน เพื่อแลกกับไฟฟ้า ขณะที่คีร์กีซสถานและทาจิกิสถานซึ่งมีทรัพยากรน้ำมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค มักมีข้อขัดแย้งในด้านการควบคุมอุปทาน

บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศในเอเชียกลาง ประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ที่กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน

ประธานาธิบดีซาดีร์ จาปารอฟ แห่งคีร์กีซสถาน เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านน้ำและพลังงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด และความสำคัญของทรัพยากรน้ำสำหรับทั้งภูมิภาค

ด้านประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ แห่งอุซเบกิสถาน ย้ำถึงความจำเป็นในการใช้กลยุทธ์ระดับภูมิภาค เพื่อการใช้ทรัพยากรน้ำของแม่น้ำข้ามพรมแดนอย่างมีเหตุผล

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักของเอเชียกลาง ได้แก่ แม่น้ำอามูดาร์ยา และแม่น้ำซีร์ดาร์ยา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากนั้น การขาดแคลนน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมภาวะโลกร้อน ยังทวีความรุนแรงขึ้นด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าสมัย

ทั้งนี้ ความตึงเครียดซึ่งยืดเยื้อมานานถึง 3 ปี บีบบังคับประเทศในเอเชียกลาง ต้องพยายามประสานความพยายามในหลายด้าน โดยเฉพาะในการจัดการน้ำ ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากภาคการเกษตร และการผลิตพลังงานในภูมิภาคที่มีประชากรประมาณ 80 ล้านคน

นอกจากนั้น ทุกฝ่ายยังมีความกังวลต่อการก่อสร้างคลองคอช เทปา ของกลุ่มตาลีบัน เพื่อการชลประทานในพื้นที่ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำมากขึ้น.

เครดิตภาพ : AFP