กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดย พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 84/2567 กรณี 3 ผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด มหาชน (EA) ได้แก่ 1.นายสมโภชน์ อาหุนัย 2.นายอมร ทรัพย์ทวีกุล และ 3.นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และหรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 ราย ได้รับผลประโยชน์ รวม 3,465.64 ล้านบาท ตามที่มีการรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
DSI รับคดีพิเศษ 3 ผู้บริหารบริษัท EA ทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ 3,465 ล้านเข้ากระเป๋าตัวเอง
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (รรท.อธิบดี ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ทั้ง 3 ราย ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการตรวจสอบเอกสารและหลักฐานการร้องทุกข์กล่าวโทษของ ก.ล.ต. ว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์ในการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการฯ
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า อย่างไรบ้าง กระทั่งคณะพนักงานสอบสวนได้มีการส่งหนังสือเชิญผู้แทน ก.ล.ต. ในฐานะผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเข้าให้ข้อมูลและพยานหลักฐานเพิ่มเติมในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. ที่ ศูนย์ราชการฯ อาคารบี ชั้น 8 (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ห้องกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เพื่อให้ได้รายละเอียดครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการเงินของ 3 ผู้บริหารกับการประกอบกิจการเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง
รรท.อธิบดี ดีเอสไอ เผยว่า หากคณะพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสารเส้นทางการเงินจาก ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว จึงจะประมวลเรื่องทั้งหมดส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา เนื่องจากประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดบางส่วนเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร อาทิ มีการตั้งบริษัทลูก และมีการจำหน่าย จ่ายโอนเงินบางส่วนจากการประกอบกิจการของบริษัทในต่างประเทศ เป็นต้น โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงจำเป็นต้องมีหนังสือเสนออัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะทำการสอบสวนด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้พนักงานสอบสวนพิเศษทำการสอบสวนต่อไป.