ตามที่ นายเอกชัย ทรัพย์นวล อายุ 50 ปี อาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ในโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เปิดบ่อจับกุ้งครั้งที่แล้วเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนกุ้งเหลือไม่มากนัก แต่กลับมีปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงกว่า 1 ตัน จนได้รับความเสียหายร่วม 300,000 บาท ขาดทุนยับเยิน และเข้ายื่นหนังสือร้องขอรับเงินชดเชยจากรัฐบาล แต่ยังเงียบหายไม่มีความคืบหน้าใดๆ นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายเอกชัย ทรัพย์นวล เกษตรกรเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และนายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เข้าร้องเรียนกับศูนย์ข่าวนคร 24 ชั่วโมง สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดนครศรีธรรมราช

นายเอกชัย กล่าวว่า หลังการจับกุ้งรอบที่แล้วเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ขาดทุนไปเกือบ 300,000 บาท ตนได้ทำการเตรียมบ่อเลี้ยงเพื่อเลี้ยงกุ้งรอบใหม่ โดยทำการตากบ่อนาน 10 วัน ก่อนสูบน้ำเข้าบ่อ โดยการกรอง 2 ชั้น พร้อมโรยกากชา เพื่อเตรียมปล่อยพันธุ์ลูกกุ้งในรอบใหม่ ระยะเวลาผ่านไปแค่ 10 กว่าวันกลับพบว่า มีลูกปลาหมอคางดำ ตัวเล็กๆ อยู่ในบ่อ ดำมืดยั้วเยี้ยเต็มไปหมด คาดว่ามาจากปลาหมอคางดำไข่ไว้ในดิน แม้จะตากบ่อแต่ก็ได้รับผลกระทบ จนเมื่อสูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยง ไข่จึงฟักและออกมาเป็นตัวเล็กๆ ยั้วเยี้ยเต็มบ่อไปหมด แม้จะมีการโรยกากชาไปก่อนแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผล เป็นเหมือนปิศาจที่ฆ่าไม่ตาย ระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ลูกปลาหมอคางดำเจริญเติบโตเร็วมาก จนถึงวันนี้เกษตรกรไม่รู้จะหาวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ถือเป็นมหันตภัยร้ายแรงตัวจริงสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำทุกชนิด โดยคาดว่าในช่วงฤดูน้ำหลากที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้ ปลาหมอคางดำ จะแพร่ระบาดลงแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่าวปากพนัง จะสร้างความเสียหายในภาพรวมอย่างมหาศาลแน่นอน

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตนทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวบ้าน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำ เมื่อเกิดการแพร่ระบาด เกิดความเสียหาย ตนจะออกมาเรียกร้อง นำเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายไปยื่นหนังสือขอรับการชดเชยช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่เท่าที่พบและสัมผัส ทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ค่อยพอใจตนและเกษตรกร ที่ร้องเรียนขอความช่วยเหลือมากนัก มองว่าตนและเกษตรเรียกร้องเกินจริง ถึงกับลงไปตรวจสอบอย่างละเอียดยิบ เอาเป็นเอาตายราวกับว่าเกษตรกรเป็นผู้ต้องหาที่กระทำผิดกฎหมาย เรียกร้องหาใบเสร็จ หรือบิลหลักฐานทุกอย่าง ในทางปฏิบัติมีหลายอยางที่เกษตรกรไม่มีใบเสร็จมาเป็นหลักฐาน เช่น ค่าน้ำมันปั่นออกซิเจน ครั้งละ 100-200 บาท ค่าผลิตอาหารเสริมที่เกษตรกรผลิตเอง หรือค่าใช้จ่ายครั้งละเล็กน้อยอื่น ๆ

“แทนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กินเงินเดือนภาษีประชาชนจะเข้าใจ เห็นอกเห็นใจประชาชนที่เดือดร้อน กลับมองประชาชนเหมือนผู้ต้องหา เหมือนนักโทษ แต่ทีกับพวกนายทุนกลับนิ่งเงียบไม่กล้าพูด ไม่กล้าเรียกร้องท้วงติงใดๆ ขนาดทำเรื่องไปยังกรมประมงเพื่อของบประมาณจากรัฐบาลในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เราเสนอในที่ประชุมให้รับซื้อ กก.ละ 15 บาท ค่าบริหารจัดการอีก กก.ละ 5 บาท เจ้าหน้าที่ทำเสนอไปแค่ กก.ละ 10 บาท ค่าบริหารจัดการ กก.ละ 5 บาท จนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งให้รับซื้อ กก.ละ 15 บาท ที่สำคัญรัฐบาลตัดงบประมาณให้แก้ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาด 450 ล้าน ใน 15-16 จังหวัด นครศรีธรรมราช ขอไปแค่ 2.9 ล้านบาทเท่านั้น หากไม่มีสื่อ นสพ.เดลินิวส์, เดลินิวส์ออนไลน์ เกาะติดนำเสนอข่าวต่อเนื่อง จนกลายเป็นกระแสที่สื่อทุกสำนักออกมานำเสนอข่าวครึกโครมต่อเนื่อง เรื่องก็คงเงียบหายไร้ร่องรอย” นายไพโรจน์ กล่าว.