การแข่งขันกีฬายกน้ำหนัก โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หลังจากจอมพลังไทยประเดิมผลงานยอดเยี่ยม คว้า 1 เหรียญเงิน จาก “ฟ่าง” ธีรพงศ์ ศิลาชัย รุ่น 61 กิโลกรัมชาย และ 1 เหรียญทองแดง จาก “ออย” สุรจนา คำเบ้า รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง
ล่าสุดวันที่ 8 ส.ค.67 นักยกน้ำหนักไทย ลงสนามคนที่ 3 “เวฟ“ วีรพล วิชุมา ดาวรุ่งชาว จ.สุรินทร์ ในรุ่น 73 กก.ชาย เป็นคนอายุน้อยที่สุดในรุ่นนี้ โดยวันที่ 10 ส.ค.67 จะอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
“วีรพล” เคยคว้า 2 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน จาก ยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก ปี 2566 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย, เหรียญเงิน เอเชียนเกมส์ ที่หางโจว นอกจากนี้ วีรพล ยังเป็นเจ้าของสถิติเยาวชนโลก ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก สถิติ 195 กิโลกรัม ทำได้ใน ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ปี 2566 ที่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 4 ก.ย.66 และเป็นเจ้าของสถิติเยาวชนโลก น้ำหนักรวม สถิติ 351 กิโลกรัม ทำได้ในศึกเอเชี่ยนเกมส์ หางโจวเกมส์ เมื่อ 30 ก.ย.66 โดย “หางโจวเกมส์” วีรพล ยกท่าสแนทช์ได้ 156 กิโลกรัม เป็นสถิติที่ดีที่สุดของตัวเองในท่านี้ด้วย ส่วนท่าคลีนแอนด์เจิร์กยกได้ 195 กิโลกรัม ซึ่งหลังคว้าเหรียญเงิน “หางโจวเกมส์“ วีรพล ให้สัมภาษณ์ว่า ”ผมมีตัวเองป็นไอดอล และเป้าหมายต่อไปคือการคว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์“
คู่แข่งสำคัญในรุ่นนี้ นำโดย ฉี ซีหยง จากจีน เหรียญทองโอลิมปิก “โตเกียว 2020” โดยครั้งนั้นทำสถิติโอลิมปิกใหม่ทั้ง 3 ท่า ท่าสแนทช์ 166 กิโลกรัม, ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 198 กิโลกรัม, น้ำหนักรวม 364 กิโลกรัม และยังเป็นเจ้าของสถิติโลก ท่าสแนทช์ 169 กิโลกรัม ด้วย นอกจากนี้ ยังมี ริซกี จูเนียนสยาห์ จากอินโดนีเซีย วัย 21 ปี เจ้าของสถิติโลก น้ำหนักรวม 365 กิโลกรัม และเจ้าของสถิติเยาวชนโลก ท่าสแนทช์ 157 กิโลกรัม
ท่าสแนตช์ วีรพล เรียกเหล็กครั้งแรก 148 กก.ยกผ่าน แต่ 2 ครั้งต่อมา เรียก 152 ไม่ผ่าน จบสแนตช์ที่ 148 กก. ท่านี้อยู่ที่ 9 ตามอันดับ 3 อยู่ 7 กก.
จากนั้นท่าคลีนแอนด์เจิร์ค หนุ่มไทย เรียก 190 กก.ฉลุย ก่อนจะเรียก 194 กก.ผ่าน และ 198 กก. ก็ผ่าน ทุบสถิติเยาวชนโลกท่านี้ สถิติรวม 346 กก.คว้าเหรียญเงินสำเร็จ
ส่วนเหรียญทอง ริซกี จูเนียนสยาห์ จากอินโดนีเซีย วัย 21 ปี 354 กก.(155-199) โดย คลีนแอนด์เจิร์ค 199 กก. เป็นสถิติใหม่โอลิมปิกด้วย ขณะที่ ทองแดง โบซิดาร์ อันดรีฟ จากบัลแกเรีย 344 กก. (154-190)
สำหรับเงินรางวัล ที่ วีรพล วิชุมา ได้รับ จากการคว้าเหรียญเงิน มาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย 7.2 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี), เงินเดือนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 2.4 ล้านบาท และจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 10.1 ล้านบาท
สรุปผลงานจอมพลังไทยใน “ปารีส 2024” คว้าไป 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง จากทั้ง 3 รุ่น ทำให้ทัพไทยคว้าเหรียญโอลิมปิกไปแล้ว 1 ทอง 3 เงิน และ 2 ทองแดง
สำหรับนักกีฬายกน้ำหนัก ยังมีลุ้นรางวัลส่งท้ายอีก 1 รุ่น จาก “ส้ม” ดวงอักษร ใจดี รุ่นมากกว่า 81 กิโลกรัมหญิง ในวันที่ 11 ส.ค.67 เวลาไทย 16.30 น. ติดตามการถ่ายทอดสดทางช่อง 7HD (35), 9 MCOT HD (30), PPTV HD 36, True ,T-Sports (7) และ AIS Play