“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กำลังตรวจสอบกระแสสังคม และความคิดเห็นประชาชนเรื่องการขยายสัญญาสัมปทานโครงการทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ของ ทล. และทางพิเศษ (ทางด่วน) ของ กทพ. ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม โดยในส่วนของการขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์พบว่ากระแสแรงมาก ที่ประชาชนไม่ต้องการให้ขยายสัมปทานอีก เนื่องจากจะหมดสัมปทานในปี 2577 โครงการจะตกเป็นของรัฐ (กรมทางหลวง) สามารถลดค่าผ่านทางลงหรือให้ประชาชนใช้เส้นทางได้ฟรีลักษณะเดียวกับช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต ที่กรมทางหลวงก่อสร้างเอง โดยไม่ให้สัมปทานบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาก่อสร้างช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ที่เก็บค่าผ่านทางสูง และจะปรับขึ้นค่าผ่านทางอีก 5-10 บาท ในวันที่ 22 ธ.ค. นี้

ขณะที่การขยายสัมปทานทางพิเศษศรีรัชให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน หรือประมาณปี 2601 รวมทั้งปรับสัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ. กับ BEM จากเดิม กทพ. 60% และเอกชน 40% เหลือ 50% : 50% เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางสายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ให้เหลือไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางประชาชนรวมทั้ง BEM ต้องรับภาระลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck หรือทางด่วน 2 ชั้น) ให้ กทพ. ด้วยนั้น เสียงประชาชนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวงขอทราบข้อเท็จจริง กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทาง ใน 5 ประเด็น อาทิ กรมทางหลวงได้ศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขสัญญาสัมปทานหรือไม่อย่างไร และประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ เนื่องจากสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2577 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวง ทำให้รัฐสามารถกำหนดอัตราค่าผ่าผ่านทางได้เองโดยไม่กระทบกับประชาชน เหตุใดกรมทางหลวงจึงไม่รอให้สัญญาสิ้นสุดแล้วดำเนินการเอง

นอกจากนี้ยังทำหนังสือถึงผู้ว่าการ กทพ. ใน 8 ประเด็น อาทิ เนื่องจากสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไขจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2578 และทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ กทพ. ทำให้รัฐสามารถกำหนดอัตราค่าผ่าผ่านทางได้เอง โดยไม่กระทบกับเอกชนคู่สัญญา เป็นเพราะเหตุใด กทพ. จึงเร่งรัดแก้ไขสัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช ภายในเดือน ส.ค. 2567 ขอทราบเหตุผลในการปรับลดสัดส่วนรายได้จากเดิมเป็น 50 : 50 และมีการขยายระยะเวลาของสัญญาออกไปสิ้นสุดปี พ.ศ. 2601 เป็นต้น ทั้งนี้กรมทางหลวงได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการขยายสัมปทานเพื่อให้เกิดความรอบคอบในทุกมิติ ขณะที่นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ระบุว่า สามารถชี้แจง ป.ป.ช. ได้ในทุกประเด็น

โดยมีรายงานข่าวล่าสุดด้วยว่า นายสุริยะ เตรียมนำเสนอ ครม. พิจารณาขยายสัญญาสัมปทานให้ BEM ส่วนการขยายสัมปทานให้ดอนเมืองโทลล์เวย์ กระแสการคัดค้านของประชาชนแรงมาก ทำให้นายสุริยะเปลี่ยนท่าที แต่เดิมจะให้กรมทางหลวงเจรจาบริษัท เพื่อขยายสัมปทานแลกกับการไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา โดยกำลังหาทางออกกับเรื่องนี้.