เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 ส.ค. ที่ห้องประชุมโรงแรม ลาวิต้า ซาน่า เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผวจ.ระนอง มอบหมายให้นายราชัน มีน้อย รอง ผวจ.ระนอง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ครั้งที่ 4/2567 โดย จ.ระนอง ได้นำเสนอประเด็นการยกระดับและส่งเสริมการค้าผ่านแดน ดังนี้ 1.การขับเคลื่อนจ.ระนองจากการค้าชายแดน ก้าวสู่การค้าระหว่างประเทศ

จากปัญหาอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการค้าชายแดนของไทยที่แต่เดิมได้นำเข้า/ส่งออกสินค้าผ่านช่องทางหลัก เช่น แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก แม่สอด-เมียวดี ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนในเส้นทางการค้าโดยได้หันเหการทำการค้าระหว่างกันมาใช้เส้นทางจังหวัดระนองเป็นช่องทางการค้ามากขึ้น โดยใช้เส้นทางระนอง-ย่างกุ้ง ทดแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นการทำการค้าในพื้นที่ที่ไม่ได้มีพื้นที่ติดต่อกันและมีมูลค่าการค้าต่อกันในแต่ละครั้งมูลค่าสูง

โดยสินค้าหลักที่มีการดำเนินการค้าอยู่ในขณะนี้นั้น ได้แก่ การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมหัวใหญ่ และโลหะหนัก (ตะกั่ว) ส่วนการส่งออกของฝ่ายไทย ได้แก่ วัสดุก่อสร้างต่างๆ และเคมีภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น

​2. การใช้วิกฤติเป็นโอกาสในพัฒนาการค้าชายแดนจังหวัดระนองไปสู่การค้าระหว่างประเทศ

ด้วยเหตุที่ปริมาณขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของจังหวัดระนองมีมากขึ้น ทำให้จำนวนเรือที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าต่างๆ ไม่เพียงพอ ส่งผลให้สายการเดินเรือต่างๆ เริ่มให้ความสนใจในเส้นทางขนส่งระหว่างจังหวัดระนอง-ย่างกุ้ง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันท่าเรือระนองเริ่มมีการขนส่งสินค้าในลักษณะตู้คอนเทเนอร์ระหว่าง จ.ระนอง-ย่างกุ้ง เพิ่มขึ้น และมีปริมาณสินค้าหรือชนิดสินค้าเพิ่มขึ้นและหลากหลายมากขึ้น

ทั้งนี้ จ.ระนอง เริ่มมีเรือบรรทุกตู้คอนเทเนอร์เข้ามาเทียบท่าเรือระนองครั้งแรกของปี 2567 ในวันที่ 8 กรกรฎาคม 2567 โดยบรรทุกตู้คอนเทเนอร์จากกรุงย่างกุ้งเข้ามาเทียบท่าจำนวน 55 ตู้ โดยสินค้าที่บรรทุกมาคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และแท่งตะกั่วหนัก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของจังหวัดในการก้าวเข้าสู่ระบบการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

​3. การส่งเสริม จ.ระนอง ให้เป็น hub ด้าน logistic ของฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงอ่าวเบงกอน BIMSTEC หรืออ่าวอื่นๆ ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา

จากนโยบายสำคัญของประเทศไทยซึ่งรัฐบาลต่างๆ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาเส้นทางขนส่งเชื่อมโยงสินค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้โครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเชื่อมระหว่างฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันเข้าด้วยกันโดยผ่านจังหวัดชุมพรและระนอง จะเพิ่มโอกาสให้จังหวัดระนองเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค เนื่องจากจะเป็นการเข้ามากเทียบท่าของเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ส่วนการค้าในอนุภูมิภาค เช่น กลุ่ม BIMSTEC ซึ่งใช้การเดินเรือชายฝั่งก็ยังจะดำเนินต่อไปและจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

​อนึ่ง การค้าชายแดนของจังหวัดระนองกับพม่า ในปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่าการค้ารวม 14,707.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 30.96 โดยเป็นการส่งออก 9,296.97 ล้านบาท เพิ่มขี้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 13.37 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 5,410.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 78.55 ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าด้านจังหวัดระนองมูลค่า 3,886.19 ล้านบาท