สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ว่า งานศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์ “Nature” เผยให้เห็นว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรรอบ ๆ ระบบปะการังที่น่าอัศจรรย์แห่งนี้ เพิ่มขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2503 และความร้อนก็สูงขึ้นเป็นพิเศษ ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ เมื่อไม่นานมานี้ อีกทั้งอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์

นางเฮเลน แมคเกรเกอร์ นักวิจัยด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยวูลลองกอง และผู้เขียนร่วมของงานศึกษา กล่าวว่า เธอรู้สึก “กังวลเป็นอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับแนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟ ซึ่งมีชีวิตอยู่มานานถึง 400 ปี และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ อยู่ในระดับอบอุ่นที่สุด และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อนึ่ง แนวปะการังเกรตแบริเออร์รีฟ มักถูกขนานนามว่าเป็นโครงสร้างที่มีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมันมีความยาวประมาณ 2,300 กิโลเมตร และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ปะการังมากกว่า 600 ชนิด และปลา 1,625 สายพันธุ์ ทว่าการฟอกขาวในวงกว้างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง กลายเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศที่เปราะบางของแนวปะการัง

ด้านแมคเกรเกอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปะการังสามารถฟื้นตัวได้ แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการฟอกขาวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลกระทบต่อความสามารถดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังเกิดขึ้นเร็วเกินกว่าที่ปะการังจะปรับตัวได้ด้วย

“ในฐานะระบบนิเวศ แนวปะการังเป็นระบบนิเวศอย่างแรกในโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งทำให้อนาคตของแนวปะการัง มีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายริชาร์ด เล็ค หัวหน้าฝ่ายมหาสมุทรขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ประจำออสเตรเลีย กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP