เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Nattawat Kasemsit” โพสต์ภาพงูตัวหนึ่ง ลงในเพจ “งูไทย…อะไรก็ได้ all about Thailand snakes” พร้อมระบุข้อความว่า “พบงูไม่ทราบชื่อไม่รู้ชนิดน้องอยู่ที่ กองไม้ ในส่วนยางคับที่นครศรีธรรมราช” ต่อมามีผู้เข้ามาตอบในคอมเมนต์ โดยมีผู้ที่รู้จักงูชนิดนี้ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่าเป็นงูปาล์ม โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายถึงระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า Craspedocephalus wiroti มีพิษอันตรายต่อระบบเลือด
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลพบว่า “งูปาล์ม หรือ งูเขียวปาล์ม หรือ งูปาล์มแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์: Trimeresurus puniceus เป็นงูพิษชนิดหนึ่ง ในจำพวกงูเขียวหางไหม้ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร มีสีและลวดลายปะปนกันหลายสี มีสีพื้นสีเขียว สีน้ำตาล และสีน้ำตาลอมแดง มีจุดประสีขาว ส่วนท้องสีน้ำตาลม่วง มีสิ่งที่ทำให้แตกต่างจากงูเขียวหางไหม้ชนิดอื่น คือ มีเกล็ดจมูกเชิดงอนขึ้น เกล็ดบนตาแหลมสูงทำให้แลดูเด่นชัด ไม่เหมือนงูเขียวหางไหม้ชนิดอื่น ๆ ซึ่งในครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของสีลวดลายหรือเป็นความแตกต่างระหว่างเพศของตัวผู้และตัวเมียของงูที่พบในเขตประเทศมาเลเซียและไม่พบในประเทศไทย แต่เมื่อนำมาเลี้ยงดูและศึกษาแล้วพบว่ามีลักษณะเช่นนี้เหมือนกันทั้งตัวผู้และตัวเมีย
งูปาล์ม เดิมเคยเชื่อว่าเป็นงูถิ่นเดียวที่พบได้เฉพาะในภาคใต้ของไทย พบครั้งแรกโดยเกาะพาดอยู่กลางป่าหวาย ที่อำเภอท่าฉาง เขตติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้ชื่อว่า “งูปาล์ม” และได้ให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trimeresurus wiroti เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ น.อ.(พิเศษ) วิโรจน์ นุตพันธุ์ นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชาวไทย แต่แท้จริงแล้ว งูปาล์มพบได้ทั่วไปตั้งแต่ภาคใต้ของไทยไปจนถึงมาเลเซียตะวันออกและอินโดนีเซีย โดยตัวอย่างต้นแบบแรกพบที่เกาะชวา โดยที่ไม่มีชนิดย่อย
ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เพจ “งูไทย…อะไรก็ได้ all about Thailand snakes” เฟซบุ๊ก “Nattawat Kasemsit” และ เว็บไซต์ “วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี”