เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ของนายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ถึงกรณีการยุบพรรคก้าวไกล ว่า สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้ ซึ่งมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค 11 คน คำตัดสินนี้ลิดรอนสิทธิ์ของชาวไทยกว่า 14 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค.2566 และทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาสามารถเลือกผู้แทนของตัวเองในระบบการเลือกตั้งของไทยได้หรือไม่ นอกจากนี้ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยของไทย และขัดกับความปรารถนาของชาวไทยต่ออนาคตที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตย

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วถึงเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันระดับชาติที่เข้มแข็ง สหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใด แต่ในฐานะพันธมิตรและมิตรใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นยาวนาน เราเรียกร้องให้ไทยดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง และเพื่อปกป้องประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก

คลิกดู(สหรัฐฯ)

นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกลด้วยเช่นกัน โดยมีสาระสำคัญที่ว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญของไทยให้ยุบพรรคการเมืองใหญ่อีกพรรคหนึ่ง คือ พรรคก้าวไกล เป็นความพ่ายแพ้ของพหุนิยมทางการเมืองในประเทศไทย พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ค. 2566 ด้วยคะแนนเสียงกว่า 14 ล้านเสียง ทั้งนี้ ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้ หากไม่มีพรรคการเมืองและผู้สมัครจากหลากหลายฝ่าย อีกทั้งข้อจำกัดใดๆต่อการใช้เสรีภาพในการรวมตัวกันและการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกิจกรรมและการจัดตั้งพรรคการเมือง จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักการที่เกี่ยวข้องของตราสารระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรที่มีอำนาจ จะต้องรับรองสิทธิว่าสส.ที่ได้รับเลือกมาอย่างถูกต้อง จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาต่อได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตัวเองได้รับเลือกจากพรรคการเมืองใด

คลิกดู(อียู)

สำหรับสหภาพยุโรปพร้อมจะขยายความร่วมมือกับประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือและความร่วมมือที่ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 รวมถึงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพหุนิยมประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน