“โภชนาการ” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับร่างกายโดยเฉพาะเด็กที่ต้องได้รับอาการที่มีประโยชน์เพื่อการเจริญเติบโต ซึ่งการรับประทานอาหารที่บ้านนั้นอาจจะพอควบคุมได้ แต่สำหรับอาหารที่ขายหน้าโรงเรียนซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นของ ทอด ปิ้งย่า น้ำหวาน ๆ ขนมกรุบกรอบ นอกจากจะเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ แล้วยังเสี่ยงต่อการ ปรุง ประกอบที่อาจไม่สะอาดและถูกสุขลักษณะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมอนามัย ได้จำแนกอาหารที่จำหน่ายหน้าโรงเรียนแบ่งเป็น กลุ่มได้ดังนี้ 1.อาหารประเภททอด เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก เกี๊ยว เฟรนซ์ฟรายส์ จะเสี่ยงอันตรายจากไขมัย และอันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ 2.อาหารปิ้งย่าง เช่น หมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง บาร์บีคิว จะเสี่ยงอันตรายจากกลุ่มควัน ที่มีสารพิษ PAH (Polycyclic Acomatic Hydrocarbon) หากสะสมในร่างกายในปริมาณมากจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง 3. น้ำตาลปั้น ขนมหวาน เช่น ลูกชุบ ลูกกวาด ไอศกรีมแท่ง ผลไม้ดอง น้ำแข็งใส น้ำหวาน ที่มีสีสันสวยงามเสี่ยงอันตรายจากสีผสมอาหารและน้ำแข็ง ที่ไม่ได้มาตรฐาน และ 4. ขนมกรุบกรอบ ที่มีของแถมดึงดูดใจ ส่วนใหญ่มีส่วนผสมแป้ง ไขมัน น้ำตาล และเกลือ
อาหารเหล่านี้ ถือเป็นภัยเงียบ หากกินมาก ๆ และบ่อย ๆ จะเกิดการสะสมและหากขาดการออกกำลังกายจะยิ่งเสี่ยงโรคอ้วน โรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลของกรมอนามัยเพิ่มเติม ที่มีการเฝ้าระวัง ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อเดือน ก.พ. 2566 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 9.13% เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.4% และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน 13.2% รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็ก พบว่า เด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คน ดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน
ดังนั้น ควรเลือกซื้ออาหารที่ปรุงสุกใหม่ เลี่ยงไหม้เกรียม สังเกตุผู้ปรุง ผู้จำหน่ายอาหาร ควรสวมผ้ากันเปื้อน และหมวกคลุมผม อาหารที่ขายต้องมีบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด และใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนใช้มือสัมผัส เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ มาสู่ผู้บริโภคได้ ประการสำคัญคือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด จึงควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก
ส่วนขนมหวานไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อ หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ไข่ 2-3 ฟองต่อคน ต่อสัปดาห์ ตับ เลือด ปลาเล็กปลาน้อย อย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถั่วเมล็ดแห้ง เผือกมันอย่างละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และเน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป
นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมการออกกำลังกายในเด็ก เพื่อเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อต่างๆ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับ ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยสามารถออกกำลังกายง่ายๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดตบ กระโดดเชือก ซิทอัพ ดันพื้น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ และที่สำคัญควรให้เด็กนอนหลับสนิทเพียงพอ วันละ 9–11 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี) และวันละ 8–10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี) เพื่อช่วยพัฒนาสมรรถภาพของหัวใจ สมอง การเจริญเติบโต ให้สมวัย สูงสมส่วน และแข็งแรงอีกด้วย.