นายวสุเชษฐ์ โสภณเถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้พนักงานที่ทำงานภาคธุรกิจผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30) หรือรถเช่าเหมาที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ยี่ห้อซิโนแวคครบทั้ง 2 เข็ม ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้วกว่า 5,000-6,000 คน ได้ทยอยเข้ารับฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้ว และจะฉีดต่อเนื่องให้ครบจำนวนที่ลงทะเบียนไว้กับ ขบ. ต่อไป เพื่อสร้างความพร้อมของบุคลากรรองรับการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาบริการและเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการมากขึ้น
ส่วนการเตรียมความพร้อมเรื่องรถเช่าเหมานั้น ปัจจุบันมีรถเช่าเหมาทั่วประเทศ 40,000 กว่าคัน จากผลกระทบโควิด-19 ตั้งแต่ปี 63-64 ทำให้รถเช่าเหมาที่มี 30,000 คัน จอดทิ้งนานกว่า 1-2 ปี เพราะไม่มีงาน ขณะนี้อุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ของรถเกิดการชำรุดมีสนิมเกาะ เช่น ระบบไฟ สายไฟ เบรก และล้อยาง ทำให้ต้องหางบประมาณมาซ่อมบำรุงสภาพรถให้อยู่ในความพร้อม ซึ่งค่าใช้จ่ายค่าซ่อมบำรุงรวมทั้งหมดประมาณ 9,000,000,0000-12,000,000,000 บาท หรือตกคันละ 300,000-400,000 บาท
นายวสุเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งเป็นวงเงินจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการรถเช่าเหมาไม่มีทุนที่จะนำมาดำเนินการ ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ช่วยเหลือเยียวยาในการหาแหล่งเงินทุน และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาโดยตลอด เพื่อนำมาดูแลในส่วนนี้ แต่ปัจจุบันเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด คาดว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สมาคมฯ จะไปติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้จากกระทรวงคมนาคม และ ขบ. อีกครั้ง เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ
ขณะนี้มีรถเช่าเหมาที่ยังให้บริการอยู่ 4,000-5,000 คัน ซึ่งจะเป็นงานประจำใช้รับส่งพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้จากผลกระทบโควิด-19 ในช่วง 2 ปี (ปี 63-64) ทำให้รถเช่าเหมาสูญรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท หรือตกเดือนละหมื่นกว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ คาดหวังว่าหากวันที่ 1 พ.ย.นี้ รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และเปิดพื้นที่การท่องเที่ยว 10 จังหวัดตามแผนที่วางไว้ เช่น กรุงเทพมหานคร หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และ จ.เชียงใหม่
นายวสุเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ทำให้มีการเดินทางมากขึ้นภาคธุรกิจรถเช่าเหมากลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยที่รัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการเดินทางในภาคการท่องเที่ยวเพิ่มเติม เช่น สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐเกิดการเดินทางด้วยการไปศึกษาดูงานแบบหมู่คณะ และเกิดการสัมมนานอกสถานที่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ชาวต่างชาติมั่นใจที่กลับมาท่องเที่ยวในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้