จากกรณีที่ เดลินิวส์ ได้ติดตามข่าวการลักลอบเนื้อสุกรแช่แข็งเข้าสู่ประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเป็นไปอย่างวงกว้าง ซึ่ง DSI รับเป็นคดีพิเศษ มีเครือข่ายเชื่อโยงถึงนักการเมือง เบื้องต้นสถานทูตทำหนังสือขอข้อมูลเอกสารการนำเข้าจาก-หน่วยงานราชการ แต่ไม่มีการตอบรับ ส่งสำนวนให้ ปปช.เอาผิดข้าราชการแล้ว

พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าชุดคดีสอบสวนคดีหมูเถื่อน DSI เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าประกอบเป็น 3 คดีหลักๆ คดีหลักที่ 1 คือคดีที่ 59/2566 ซึ่งเกี่ยวข้องกับตู้สินค้าจำนวน 161 ตู้ คดีที่สองที่ 126 / 2566 อันนี้ เกี่ยวข้องกับตู้สินค้า 2388 ตู้และคดีพิเศษที่ 3 คือคดีที่ 127/2566 ประกอบด้วยเนื้อสุกร ตีนไก่และเนื้อวัว ที่นับจำนวนไม่ได้แต่มีปริมาณมาก

ในกลุ่มคดีหลักที่ 1 คือคดีที่ 59/2566 ซึ่งเกี่ยวข้องกับหมูเถื่อน 161 ตู้ เป็นตู้ที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งได้แยกสำนวนออกเป็น 10 สำนวนเนื่องจากมีบริษัท 10 บริษัท เป็นผู้นำเข้ามา สรุปว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้อง มีทั้ง กรมศุลกากร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ จึงได้นำส่ง ปปช.ไปแล้ว 7 สำนวนมี และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างเสนอรักษาการอธิบดี DSI ลงนามอีก 1 เรื่อง อีก 2 เรื่องกำลังเร่งดำเนินการ ไม่เกินกลางเดือนสิงหาคมนี้ก็จะส่งครบ ในกลุ่มนี้ข้าราชการที่เป็นกลุ่มภาคปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ส่วนในกลุ่มที่ 2 และ 3 ที่เป็นเลขคดีที่ 126 และ127 /2566 ทั้งสองเรื่องนี้ เป็นตู้สินค้าที่ออกจากท่าเรือไปแล้วซึ่งมีจำนวนมาก และก็มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากมีทั้งข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองเบื้องต้นตรวจสอบได้ว่ามีการสำแดงเท็จจากปลามาเป็นหมู ซึ่งขบวนการนี้ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนได้เดินทางไปที่สถานทูตประเทศยุโรปและอเมริกาใต้ ตอนนี้ได้ข้อมูลแน่ชัดแล้วว่า มีอย่างน้อย 11 ตู้แล้วที่นำเข้ามาเราจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้นำเข้าใช้วิธีการอย่างไร

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นแล้ว DSI ได้ข้อมูลจากสถานทูตแห่งหนึ่งในประเทศไทย ว่าสถานทูตได้ทำหนังสือไปที่หน่วยงานของรัฐแต่ก็ไม่ได้ข้อมูลกลับมาแต่อย่างไร แต่ทราบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารใบรับรองจำนวนมากเนื่องสินค้าที่ออกจากประเทศในอเมริกาใต้ไม่สามารถนำเข้าประเทศไทยได้ จึงต้องมีการนำสินค้ามาพักไว้ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นมีการปลอมแปลง INVOICE ในส่วนของอีกหนึ่งประเทศในยุโรปพบว่าสินค้าบางส่วนที่ห้ามนำเข้าจากอเมริกาใต้แต่มีการส่งผ่านประเทศยุโรปแล้วจึงส่งมาในประเทศไทย ซึ่งมีการปลอมแปลงเหมือนกัน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนประสานงานกับต่างประเทศ และได้ข้อมูลสำคัญมาก ซึ่งกลุ่มในประเทศยุโรปที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนสุกร จะร่วมมือกันในการสืบสวนสอบสวน ว่ามีใครบ้าง ซึ่งเบื้องต้นพบว่าการสั่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทยจะผ่านเอเย่นต์ ที่อยู่ต่างประเทศแล้วจะมีการรวบรวมตู้สินค้าจากประเทศต่างๆ เข้ามา เปลี่ยนแปลงที่ประเทศในแถบเอเชีย แล้วเมื่อทำเอกสารต่างอาทิ INVOICE PACKINGLISTรวมไปถึงใบรับรองต่างๆ เสร็จจึงนำเข้ามาสู่ประเทศไทย เบื้องต้นพบว่ามีจำนวน 5590 ตู้ที่นำมาจากประเทศเอเชีย ซึ่ง DSI จะต้องเดินทางไปอีก 7 ประเทศ ที่ผ่านได้เดินทางไปที่อิตาลี ก็ได้ข้อมูลมาระดับนึง และประมาณต้นเดือนตุลาคมนี้จะเริ่มที่ประเทศบราซิล เพื่อขอความร่วมมือ หากได้ข้อมูลนี้มาประกอบกับที่ได้มีการตรวจสอบเส้นทางการเงินไปแล้วเพื่อให้เห็นว่าตู้สินค้าที่เข้ามาไม่ใช่ปลาแต่มันเป็นซ่ากสุกร ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่รัฐมีการรับเงินกันเป็นทอดๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายผล ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่อยู่ระหว่างการขยายผลนั้นมีความสำคัญมากที่สุดที่ DSI ทำจะเป็นไปในรูปแบบองค์กรอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและเกษตรกร ซึ่งจะมีข้าราชการฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำและนายทุน ที่เอาของเข้ามาในช่วงปี 2564-2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เลขคดี 126/2566 กรณีการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 2,388 ตู้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการขอตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ (MLAT) จาก 30 ประเทศต้นทางแล้วและมีรายงานข่าว จากสถานทูตบราซิล ประจำประเทศไทย ในส่วนกระทรวงการเกษตรปศุสัตว์และอาหาร ของบราซิล (Ministry of Agriculture, Livestock and Food Supply(MAPA)) ว่า ได้ส่งเอกสารหนังสือ ลงวันที่ 20 เมษายน 2566 ขอให้กรมปศุสัตว์ส่งมอบเอกสารหลักฐานการนำเข้าซากสัตว์จากบราซิลไปยังประเทศไทย เพื่อประเทศบราซิลจะได้ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการลักลอบ สินค้าปศุสัตว์จากบราซิลมายังประเทศไทย และขอให้มีการประชุมหารือ เรื่องดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ไม่มีการ ส่งเอกสาร ไปให้สถานทูตบราซิลประจำประเทศไทย หรือจัดให้มีการประชุมหารือ เรื่องสินค้าลักลอบซากสัตว์ แต่อย่างใด และในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 สถานทูตบราซิลประจำประเทศไทย ก็ได้มีหนังสือทวงถาม ถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งพร้อมทั้งเสนอแนะ ให้มีการประชุมหารือ เรื่องลักลอบการนำเข้าซากสัตว์จากประเทศบราซิลมายังประเทศไทยอีกครั้ง แต่ผลปรากฏว่าก็ยังเพิกเฉยเหมือนเดิม จากประเด็นนี้ เป็นเหตุให้น่าสงสัยว่า เหตุใดกรมปศุสัตว์ จึงไม่ยอมส่งเอกสารหลักฐาน ไปให้สถานทูตบราซิล หรือจัดให้มีการประชุมร่วม เพราะกลัวว่าข้อมูลจะถูกเปิดเผยหรือเปล่า และ เรื่องดังกล่าวนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชา ในระดับกระทรวงทราบหรือไม่ การที่นิ่งเฉย ไม่นำพาต่อสิ่งใด แสดงให้เห็นถึงการละเลย การปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่า เข้าข่าย “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน กลุ่มใดหรือไม่ เหตุใดจึงไม่ดำเนินการใดๆ