สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ว่า สื่อท้องถิ่นหลายแห่งในบังกลาเทศ รายงานโดยอ้างข้อมูลด้านการสืบสวนสอบสวน ว่าจำนวนผู้เสียชีวิต จากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในบังกลาเทศเพิ่มเป็นมากกว่า 90 ราย ในจำนวนนี้รวมตำรวจอย่างน้อย 14 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน เฉพาะเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จากการที่บรรดานักศึกษายกระดับแคมเปญประท้วงต่อต้านรัฐบาล เป็นการแสดงอารยะขัดขืนทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ลาออกจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว เพิ่มสถิติผู้เสียชีวิต จากการประท้วงซึ่งปะทุเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเรียกร้องการแก้ไขการจัดสรรโควตาตำแหน่งงานราชการ เพิ่มเป็นอย่างน้อย 283 รายแล้ว
ขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศพยายามควบคุมสถานการณ์ ด้วยการประกาศเคอร์ฟิวครั้งใหม่ หลังตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานการจับกุมผู้ประท้วงแล้วมากกว่า 10,000 คน ด้านฮาสินายื่นข้อเสนอเจรจากับแกนนำผู้ประท้วง ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยผู้ประท้วงยื่นคำขาดว่า นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งเท่านั้น
ด้านนายโฟลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องคู่กรณีทุกฝ่ายถอยห่างจากการใช้ความรุนแรงต่อกัน และแสดงความวิตกกังวล ว่าการเดินขบวนประท้วงครั้งใหม่ในวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. จะนำมาซึ่งความสูญเสียเป็นวงกว้างอีก
อย่างไรก็ตาม นายอนิซุล ฮุค รมว.ยุติธรรมบังกลาเทศ กล่าวว่า “รัฐบาลอดกลั้นถึงขีดสุดแล้ว” มิเช่นนั้น “ความสูญเสียจะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างมากกว่านี้”
ส่วนกองทัพบังกลาเทศเผยแพร่แถลงการณ์ ของ พล.อ.วาเกอร์-อุซ-ซามัน ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมคนปัจจุบัน ยืนยันว่า “กองทัพบังกลาเทศคือสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นของประชาชน”
อนึ่ง ศาลฎีกาของบังกลาเทศมีคำพิพากษา เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ปรับโควตาการสงวนตำแหน่งงานราชการ ไว้ให้กับบุตรหลาน และทายาทของวีรบุรุษสงคราม ซึ่งร่วมรบและต่อสู้ เพื่อให้บังกลาเทศเป็นเอกราชจากปากีสถาน เมื่อปี 2514 จากที่เคยสูงถึง 30% ให้ลดลงเหลือเพียง 5%
ขณะเดียวกัน ศาลสูงสุดของบังกลาเทศกำหนดโควตางานราชการ 1% สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ และอีก 1% สำหรับผู้พิการและบุคคลซึ่งเป็นเพศทางเลือก ส่วนอีก 93% ให้มาจากผลการทดสอบ และประเมินตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล
แม้การกำหนดโควตาใหม่โดยศาลฎีกา จะนำไปสู่การเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และมีนัยสำคัญกับตลาดแรงงานในบังกลาเทศ อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นยังไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงส่วนใหญ่ ซึ่งต้องการให้ยุติการใช้นโยบายเหล่านี้ “ที่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรง”.
เครดิตภาพ : AFP