เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้เปิดเผยเรื่องราว เสือบะลาโกล ที่มีจุดเริ่มต้นจาก อุทยานแห่งชาติคลองลาน ได้ใช้ชีวิตอิสระอีกครั้งในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งมีเสือโคร่งอินโดจีนอาศัยอยู่แต่ไม่หนาแน่นเท่าป่าตะวันตกแหล่งของประชากรเสือโคร่งกลุ่มใหญ่ของไทย โดยได้โพสต์ข้อความว่า บันทึกรายวันการติดตามบะลาโกล วันที่ 27 กรกฎาคม 67 ทีมติดตามเสือ 3 นาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อช.ปางสีดา จำนวน 6 นาย นัดรวมตัวกันที่อ่างเก็บน้ำพระปรง หลังจากนั้นได้นั่งเรือไปที่ท้ายอ่าง จึงได้เห็นว่าบริเวณนั้น มีวัว และควายที่ชาวบ้านต้อนมาเลี้ยง มากกว่า 100 ตัว สภาพภูมิประเทศเป็นป่าลาน และป่าไผ่สลับกัน เส้นทางที่ใช้ในการเดินป่าเป็นถนนชักลากเก่า ทีมฯ เดินไปถึงคลองซึ่งเป็นจุดหมายในการตั้งแคมป์คืนแรก แต่ว่าไม่มีน้ำ จึงตัดสินใจออกเดินทางกันต่อไปกระทั่งประมาณสี่โมงเย็น มีฝนตกลงมา ทีมฯ จึงได้พักและตั้งแคมป์ โดยกางฟลายชีทป้องกันฝนในขณะเดียวกันก็ได้รองรับน้ำฝนไว้ใช้และดื่ม
วันที่ 28 ก.ค. 67 มีฝนตกตลอดวัน ทีมติดตามเสือโคร่ง 3 นาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อช.ปางสีดา 3 นาย ได้เดินเท้าเข้าพอยท์ของวันที่ 21 ระยะทางจากแคมป์ถึงพอยท์ประมาณ 2.5 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศ เป็นป่าดิบ มีป่าไผ่เป็นบางช่วง ทางเดินเป็นทางชักลากไม้เก่า ในระหว่างทางเข้าพอยท์จำเป็นต้องข้ามลำห้วยที่มีความกว้างราว 10 เมตร น้ำเชี่ยวแรงและลึก ทีมติดตามเสือ 3 นาย ได้ว่ายน้ำข้าม โดยไม่ได้นำอุปกรณ์ใดๆ ติดตัวไป เพราะเกรงจะเปียกน้ำแล้วเสียหาย เมื่อถึงพอยท์ได้พบร่องรอยนอนของบะลาโกล และมีรอยเล็บบนต้นไม้ จากแผนการเดิมที่จะเดินเข้าพอยท์ของวันที่ 28 ต่อเนื่องไป จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนเนื่องจากสมาชิกในทีมมีอาการไข้จากการตากฝนตลอดวัน จึงได้กลับมาพักแรมที่จุดเดิม โดยน้ำดื่ม น้ำใช้เป็นน้ำฝนที่รองไว้โดยฟลายชีทเช่นเดิม
วันที่ 29 ก.ค. 67 เป็นวันที่มีฝนตกแต่เช้า ทีมติดตามเสือ 3 นาย ออกจากแคมป์เวลา 07.30 น. เพื่อเข้าพอยท์ของวันที่ 26 ซึ่งมีสองกลุ่ม กลุ่มพิกัดแรกอยู่บริเวณไหล่เขา ค่อนข้างชัน มีต้นลาน และไม้พุ่มหนามรกทึบ ต้องแหวกและมุดเข้าไปจนถึงพอยท์ พบซากใต้ต้นลาน มีรอยตีนเสือใกล้กัน รอบๆ พบรอยตีนหมูป่าจำนวนมาก ส่วนพอยท์อีกกลุ่มอยู่ติดลำห้วยห่างจากพอยท์กลุ่มบนราว 300 เมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นเพิงหินซับซ้อน ที่พอยท์ล่าง ไม่พบร่องรอยใด ทีมกลับถึงแคมป์ประมาณ 14:30 น. แล้วรีบเก็บแคมป์และย้ายลงมานอนริมขอบอ่าง เพื่อรอเรือกลับในวันรุ่งขึ้น
30 ก.ค. 67 ทีมเฝ้าระวังยังคงลาดตระเวนต่อเนื่อง ส่วนทีมติดตามเดินทางกลับถึงสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น พร้อมทั้งส่งรายงาน เส้นขนตัวอย่างรวมถึงภาพชิ้นส่วนที่ไปเจอเมื่อเข้าพอยท์ เพื่อยืนยันให้มั่นใจว่า ครั้งนี้บะลาโกลโชว์สกิลการล่าอีกระดับ “ภาพที่เห็น เป็น คากิชิโยะ ทั้งเส้นขนดำแข็ง ขนาดนั้น มันก็คือ หมูป่า แน่นอน” เป็นข้อความยืนยันจากผู้มากประสบการณ์.
ขอบคุณภาพ และข้อมูล สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่