นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า วธ.มีนโยบายในการนำทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความหลากหลายมาขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ซึ่ง จ.นราธิวาส มีความหลากหลายทางด้านอัตลักษณ์ มองว่ามีความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power จึงได้จัด “เทศกาลเรือกอและ ศิลปะ สี และลวดลาย” ภายใต้โครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน วันที่ 2-4 ส.ค. 2567 ณ บริเวณศาลากลางจ.นราธิวาส (หลังเก่า) ต.บางนาค อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส โดยภายในงานมีนิทรรศการเรือกอและ การสาธิตวาดลวดลายเรือกอและ การทำเรือกอและจำลอง ผลิตภัณฑ์จากเรือกอและ นิทรรศการศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ นิทรรศการพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน เปิดให้ชมคัมภีร์อัลกุอานเขียนด้วยมืออายุกว่าร้อยปี และการสาธิตวิธีการเก็บรักษาคัมภีร์โบราณ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจากศิลปินพื้นบ้าน เด็กและเยาวชน  อาทิ ดิเกร์ฮูลู มโนราห์ ซีละ อนาซีดกุมปั กลองบานอร่วมสมัย เชิดหนังตะลุง ดนตรีอนุรักษ์ภาษาถิ่นเจ๊ะเห การแสดงรีวิวประกอบเพลง การแสดงดนตรีพื้นบ้านคลาสสิก  ที่สำคัญมีการนำชมพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาสยามค่ำคืน (Night at the Museum) ด้วย

นางยุพา กล่าวต่อไปว่า งานดังกล่าวเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และสร้างภาพลักษณ์ของนราธิวาสควบคู่กับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางประเพณีวัฒนธรรม เพิ่มรายได้แก่คนในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตลอดจนการยอมรับความหลากหลายทางประเพณีวัฒนธรรม นำไปสู่ความมั่นคงในพื้นที่และชาติ รวมถึงเป็นการเชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมีโอกาสมาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น เป็นมิติใหม่ในการพัฒนาและให้ความสำคัญต่ออัตลักษณ์และวิถีชีวิตของประชาชน เพื่อขับเคลื่อน Soft Power ในนราธิวาส โดยเฉพาะ “เรือกอและ” เป็นเรือประมงภูมิปัญญาและเป็นศิลปะชายแดนใต้ที่มีอัตลักษณ์และสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานดินแดนปักษ์ใต้ มีลวดลายที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์และอิทธิพลที่ได้รับจากสภาพแวดล้อมทั้งปัจจัยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่ร่วมในจังหวัดชายแดนใต้ นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์ซึ่งเป็นผลของวัฒนธรรมสัมพันธ์ที่มีคุณค่าสมควรอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง

ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีหลากหลายหน่วยงาน รวมถึงหน่วยงานในสังกัด วธ. คือ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้มีการนำลวดลาย สีสัน และศิลปะของเรือกอและ ซึ่งมรดกภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ศิลปะภาคใต้ มาต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมสู่สินค้า Soft Power อาทิ มีการนำลวดลาย สีสันเรือกอและมาผลิตเป็นดินสอและยางลบ ลายผ้า ลวดลายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ นอกจากนี้ สศร.ยังมีเพิ่มมูลค่าให้ “ผ้าบาติก” ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ยะลา ปัตตานีและสงขลา ผ่านโครงการพัฒนาผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ด้วย