ฝนดาวตกหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ดึงดูดความสนใจทุกครั้งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ พร้อมชวนสังเกตท้องฟ้าตลอดเดือนสิงหาคมซึ่งมีอีกหลายปรากฏการณ์ที่น่ารอชม โดยชวนพูดคุยกับ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ซึ่งให้ความรู้ว่า ในรอบปีแม้จะมีฝนดาวตกหลายกลุ่ม แต่ที่มีอัตราการตก 100 ดวงต่อชั่วโมงขึ้นไปที่โดดเด่น หนึ่งในนั้นคือ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ฝนดาวตกที่มีอัตราการตกค่อนข้างสูง และหากเกิดขึ้นในคืนที่ไร้แสงจันทร์กวน ท้องฟ้าใส ไร้เมฆฝน ยิ่งทำให้สังเกตการณ์ ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้ชัดเจน
“ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (ฝนดาวตกวันแม่) ช่วงเวลาที่จะสังเกตการณ์นับแต่ 23.00 น. ของวันที่ 12 สิงหาคมจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการตกประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง ทั้งนี้เดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่มีฝนตกอาจต้องลุ้นกับสภาพอากาศ และสภาพท้องฟ้า
ฝนดาวตกกลุ่มนี้ประเทศทางซีกโลกเหนือจะมีโอกาสเห็นได้มากกว่า ทั้งนี้ตำแหน่งของฝนดาวตกอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอุสซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่อยู่ทางซีกฟ้าเหนือเป็นส่วนใหญ่ ฝนดาวตกกลุ่มนี้จึงเป็นที่รู้จักของกลุ่มประเทศที่อยู่ทางซีกโลกเหนือ ส่วนการสังเกตการณ์อุปกรณ์ไม่มีอะไรพิเศษ นอกจาก การดูด้วยตาเปล่า และไม่มีแสงไฟรบกวน”
ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์เล่าอีกว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวย เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร
เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าวจะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศเกิดการลุกไหม้ เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ และจากปรากฏการณ์ฝนดาวตก ในด้านการศึกษาขณะนี้เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องแหล่งกำเนิด ซึ่งปกติฝนดาวตกมักจะเกิดจากพวกดาวหางที่อาจจะเข้ามาในวงโคจรของระบบสุริยะของเรา
ในขณะที่เข้ามาในระบบสุริยะก็มักเกิดการแตกกระจาย ทิ้งเศษหินเศษฝุ่นไว้ในวงโคจรของเขาเอง และในหนึ่งปีที่โลกเคลื่อนที่เข้าไปตัดกับสายธารเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้เราได้ทราบตำแหน่งที่แน่นอน โดยใน 1 ปี โลกโคจรเข้าไปตัดในช่วงวันไหน เวลาใด ฯลฯ โดยสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้คำนวณหาวัน เวลาการเกิดฝนดาวตกได้อย่างแม่นยำ
จากองค์ความรู้นี้ยังส่งต่อไปถึงการคำนวณหาวัตถุที่มาจากนอกโลก ไม่ว่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อย หรือดาวหาง ที่มีโอกาสจะเข้ามาในทิศทางที่อาจจะเข้ามาเฉียดโลก หรือใกล้โลก ใช้วิธีการเดียวกันนี้ศึกษาตำแหน่งและทิศทาง มาติดตามระวังภัย
“ฝนดาวตกกลุ่มนี้ ถ้าเปรียบกับฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว การชมอาจต่างกัน อีกทั้งหลายพื้นที่อาจพลาดโอกาสเฝ้าสังเกตจากที่กล่าวเป็นช่วงฤดูฝนของประเทศไทย แต่อย่างไรแล้ว ฝนดาวตกวันแม่ ก็เป็นหนึ่งในฝนดาวตกที่ได้รับความสนใจ และหลังจากให้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องฝนดาวตกต่าง ๆ เผยแพร่ออกไป ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังทำให้มีความเข้าใจเกิดการติดตามชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งเชื่อมโยงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ รวมถึงการให้ความสำคัญของเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
“ฝนดาวตกใหญ่ ๆ ที่จะสังเกตเห็นและเป็นที่รู้จักได้แก่ ลีโอนิดส์ ในเดือนพฤศจิกายน เจมินิดส์ ในเดือนธันวาคม ควอดรานติดส์ ในช่วงเดือนมกราคม และ โอไรออนิดส์ และครั้งนี้เป็นอีกโอกาสที่จะได้ติดตามการกลับมาของ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ฝนดาวตกในคืนวันแม่อีกครั้ง”
นอกจากฝนดาวตก ในปีนี้ที่น่าติดตามเฝ้าชมยังมี ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์เล่าเพิ่มอีกว่า แต่ละปี สดร.จะติดตามปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่โดดเด่นที่แตกต่างกันไป อย่างปีนี้ ฝนดาวตกอาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องของวันที่ตรงกับวันที่มีแสงจันทร์รบกวน และช่วงที่มีอัตราการตกสูงสุดที่อาจไม่เหมาะกับการสังเกตการณ์
“ปีนี้เป็นปีของดวงจันทร์ จะเห็นว่าที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับดวงจันทร์เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ หรือเรื่องที่น่าสนใจจากดวงจันทร์ อย่างที่ผ่านมามีการนำตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ จากภารกิจฉางเอ๋อ นำมาจัดแสดงที่ประเทศไทยซึ่งก็เป็นที่สนใจ ทั้งนี้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะมาถึง ทาง สดร. จะนำความรู้ในเรื่องนี้ และเรื่องที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับดวงจันทร์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสีของดวงจันทร์ที่แท้จริง ดิน มีความต่างอย่างไรกับดินบนโลก รวมถึงเรื่องน่ารู้ ทำไมต้องกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง และทำไมนักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ ถึงให้ความสนใจ โดยหลายประเทศต่างแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ มีความพยายามที่จะส่งยานอวกาศกลับไปสำรวจดวงจันทร์ ฯลฯ ก็จะนำมาจัดแสดง”
จากที่กล่าวเดือนสิงหาคมยังมีอีกหลายปรากฏการณ์ อย่างเช่น ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ในรอบปี โดยปรากฏการณ์นี้จะตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม เวลา 12.22 น. ดวงอาทิตย์จะอยู่ในตำแหน่งกลางศีรษะ ในวันนั้นหากออกไปในพื้นที่โล่ง จะพบว่าเงาของเรา หรือวัตถุต่าง ๆ รอบตัวเราจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี จะไม่เห็นวัตถุนั้นทอดยาวออกไปทางใดทางหนึ่ง
อีกปรากฏการณ์ที่น่าสังเกตการณ์ ดาวเคียงเดือน จะสังเกตเห็นได้ในคืนวันที่ 20-21 เวลาประมาณ 20.30 น. โดยหากมองไปที่ดวงจันทร์จะเห็นดาวดวงหนึ่งที่มีความสว่าง สีเหลือง ๆ ทางทิศตะวันออกจะได้เห็น ดาวเสาร์ ที่ใกล้กับดวงจันทร์ และในวันที่ 30 สิงหาคมดวงจันทร์จะไปเคียงดาวสว่าง กลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนช่วงประมาณตี 3 ถึงรุ่งเช้า
นอกจากนี้ยังมี ดาวเคราะห์ ที่จะเริ่มสังเกตเห็นได้ชัดเจน อย่างเช่น ดาวเสาร์ นับแต่ช่วงเวลา 20.30 น. ทางทิศตะวันออก และในช่วงรุ่งเช้าจะเห็น ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ที่เริ่มปรากฏให้สังเกตกันอีกครั้งหลังจากที่ช่วงก่อนหน้านี้ดาวเคราะห์อยู่ในตำแหน่งใกล้กับดวงอาทิตย์ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างยาก แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวจะสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์ได้นับตั้งแต่หัวคํ่าเป็นต้นไป โดยอาจเตรียมอุปกรณ์ รอชมดาวเสาร์ โดยจะเริ่มเห็นวงแหวนได้ชัดเจนมากขึ้น
ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ให้ข้อมูล ทิ้งท้ายอีกว่า แม้ช่วงนี้จะเป็นฤดูฝนของประเทศไทย แต่มีอีกไฮไลต์หนึ่งสำหรับการสังเกตการณ์ท้องฟ้าก็คือ ใจกลางทางช้างเผือก ที่สามารถสังเกตเห็นได้นับแต่ช่วงหัวคํ่า เป็นช่วงเวลาที่ใจกลางทางช้างเผือกจะปรากฏให้เห็นชัดเจน
“ในคืนไหนที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวน และไม่มีฝนตก หรือเมฆบนท้องฟ้าปกคลุม ในคืนนั้น สามารถจะสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจน โดยใจกลางทางช้างเผือกจะเป็นบริเวณที่มีดาวฤกษ์อยู่กันอย่างหนาแน่น ถ้าสังเกตจะเห็นท้องฟ้ามีลักษณะเป็นฝ้าบาง ๆ เป็นแนวพาดผ่านจากทิศเหนือจดทิศใต้ ซึ่งคนในอดีต โบราณจะเรียกว่าคลองฟ้า ซึ่งก็คือแนวทางช้างเผือก”
อีกไฮไลต์ในช่วงหน้าฝน อีกปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่ชวนปักหมุดรอชม.
พงษ์พรรณ บุญเลิศ