เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดกรณีกระแสสื่อสังคมออนไลน์ อ้างว่าพบร่องรอยบนลานหินลักษณะคล้ายรอยตีนไดโนเสาร์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จากนั้นนายลำยอง ศรีเสวก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้ประสานกรมทรัพยากรธรณี เพื่อขอให้นักวิชาการมาช่วยตรวจสอบว่าเป็นรอยตีนไดโนเสาร์จริงหรือไม่

โดย นายโกเมศ พุทธสอน ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 , ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณี , น.ส.บุษยา เพ็ชร์มา ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานฯ และผู้ค้นพบคนแรก ซึ่งเป็นครอบครัวนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการสำรวจธรรมชาติ แจ้งว่า ค้นพบร่องรอยตรงนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 และได้เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณที่พบรอยคล้ายรอยตีนไดโนเสาร์ ณ ลานหินบริเวณลานกางเต็นท์อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าไปแล้วก่อนหน้านี้

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากกรมทรัพยากรธรณี พบว่าเป็นรอยตีนของไดโนเสาร์จริง ประทับอยู่บนลานหินทรายและหินโคลน จัดอยู่ในหมวดหินภูพาน ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปีก่อน กระจายอยู่บนพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร รอยตีนไดโนเสาร์ที่พบมีจำนวนมากกว่า 10 รอย และแสดงเป็นแนวทางเดิน จำนวนอย่างน้อย 2 แนว ส่วนใหญ่เป็นรอยตีนของไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา กลุ่มเทอโรพอดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ แสดงรอยประทับของของนิ้วตีนข้างละสามนิ้วชัดเจน ทั้งนี้ คณะสำรวจจะลงพื้นที่สำรวจเพิ่มเติม และเก็บข้อมูลทางวิชาการ เพื่อจะได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อการเรียนรู้ทางธรณีวิทยาต่อไป