จากข้อมูลในหนังสือ “บันทึกแผ่นดิน 7 สมุนไพร ดูแล แม่หญิง” ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งได้บันทึกประวัติและสรรพคุณของสมุนไพรไทยเอาไว้ ที่น่าสนใจคือ “ลูกไข่เน่า” หรืออีกชื่อเรียกคือ “ขี้เห็น” หรือ  “คมขวาน” หรือ “ฝรั่งโคก” ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาพบว่า ในผลไข่เน่ามีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสารประกอบฟีนอล (phenol compound) ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และเพิ่มภูมิคุ้มกัน

“สารแอนโทไซยานินยังเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดเล็กๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น นอกจากนี้เปลือกผลไข่เน่าแก้โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นนัยน์ตา (การขาดวิตามินเอ) โรคกระเพาะหรือลำไส้อักเสบของทารก ผลไข่เน่าจึงเหมาะกับทั้งเด็กและผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ “ไข่เน่า” มีสารพวกกำมะถันหรือซัลเฟอร์(Sulphur) ทำให้ผลเข่าเน่ามีกลิ่นฉุน ซึ่งเป็นสารที่พบในกระเทียม หอม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือด กระดูกและข้อ ช่วยลดการอักเสบ แก้ปวด ต้านมะเร็ง ให้กำลังวังชา คนโบราณเชื่อว่า พืชที่มีกลิ่นฉุนทั้งไข่เน่า สะตอ ขนุนทุเรียน กระเทียม หัวหอม ล้วนแต่เป็นยากระตุ้นกำหนัด และนักวิจัยบางคนเชื่อว่า ไข่เน่ามีสารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งทำให้หลอดเลือดขยายตัว มีบทบาทสำคัญในการทำงานของอวัยวะเพศชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ผลไข่เน่าจึงเป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย

นอกจากนี้สารแอนโทไซยานินที่อยู่ในไข่เน่ายังเป็นสารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ต้านเอนไซม์ฟอสโฟไดเอทเทอเรส-5 (phosphodiesterase-5 inhibitor) ซึ่งยาไวอากร้าที่ใช้รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพก็ออกฤทธิ์ผ่านกลไกเดียวกันนี้

หมอพื้นบ้านนิยมใช้ราก กิ่ง ใบ ของไข่เน่ามาต้มกินแก้ปวดเมื่อย การศึกษาสมัยใหม่ก็พบว่าในกิ่งไข่เน่ามีสารเอคไดสเตียรอยด์ (Ecdysteroid) ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตสารนี้ขายเป็นอาหารเสริมชูกำลังและชะลอความแก่ นอกจากนี้ในใบของไข่เน่ายังมีสรรพคุณแก้อักเสบได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ไข่เน่ายังสามารถปรับสมดุลร่างกายของผู้หญิง เพราะมีสรรพคุณคล้ายกับ “ยอ” คือ ทำให้เลือดลมทำงานเป็นปกติ รักษาอาการไม่ปกติของระบบประจำเดือน และอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น ปวดท้อง หงุดหงิด ไข้ตัวร้อน ปวดเมื่อยตามตัว ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า ผลของ chaste tree (Vitex agnus-castus) ซึ่งเป็นพืชในตระกูลเดียวกับไข่เน่า มีฤทธิ์ในการปรับสมดุลฮอร์โมนของผู้หญิง และพบว่าสารสกัดจากใบไข่เน่ามีแนวโน้มจะมีสรรพคุณเดียวกัน และมีฤทธิ์กระตุ้นการผลิตน้ำนมในผู้หญิงผ่านกลไกดังกล่าว

สำหรับตำรับยาที่มีส่วนผสมของไข่เน่า แบ่งเป็นสูตร ดังนี้ “ยาบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย” จะใช้ กิ่งไข่เน่า เถาชะเอมไทย ต้นช้างน้าว เครือเขาแกลบ ต้มกิน

“ยาตานซาง” จะมีส่วนผสมของฝักคูณ ใบมะกา ขิง 7 แว่น กระเทียม 7 กลีบ พริกไทย 7 เม็ด ดีปลี 7 ดอก ชุมเห็ดทั้ง 5 กะเพราทั้ง 5 เปลือกไข่เน่า รากสะแก แก่นประดู่ บอระเพ็ด 3 องค์คุลี ต้มกิน

การรับประทานผลไข่เน่า ทำเมนูได้หลากหลาย ดังนี้ 1. ผลสุกของไข่เน่าจะกินเป็นผลไม้ได้สดๆ หรือเอามาคลุกเคล้ากับเกลือแล้วนำไปผึ่งแดดเก็บไว้รับประทาน หรือนำไปดองน้ำเกลือหรือเชื่อมแล้วเก็บไว้กิน 2. ผลไข่เน่าสามารถนำไปทำเป็น “ขนมไข่เน่า” วิธีทำเหมือนกับการทำขนมกล้วย แต่ใช้ไข่เน่าแทน แล้วหยอดใส่ใบตองทรงกรวยแหลม แล้วเอามะพร้าวขูดโรยหน้าก่อนจะนำไปนึ่ง 3. ทำเป็นน้ำผลไม้ไข่เน่า หรือแยมไข่เน่า โดยผสมกับผลไม้อื่นๆ เพื่อแต่งรสให้กลมกล่อม.