เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวปิดคดียุบพรรค ว่า การตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล มีเส้นแบ่งระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคที่เคยถูกยุบในอดีต ไม่มีระเบียบข้อบังคับ กฎหมายของ กกต.ในการรวบรวมพยานหลักฐานในการยุบพรรค โดยพรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่มีกระบวนการนี้เกิดขึ้นจึงเป็นเส้นแบ่งระหว่างพรรคก้าวไกล กับคดีของพรรคอื่นๆ ที่ผ่านมา

นายพิธา กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2549 มีพรรคการเมืองถูกยุบไปทั้งหมด 33 พรรค มีนักการเมืองถูกตัดสิทธิไปอย่างน้อย 249 คน และมีการยกคำร้องประมาณ 14 ปีที่แล้ว เป็น 1 ใน 34 พรรคที่รอด พรรคนั้นรอดไม่ถูกยุบและยกคำร้องเพราะกระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายทะเบียนไม่ได้ทำตามที่ระเบียบของ กกต.ที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้กระทั่งการชี้แจง ซึ่งเป็นการเสียโอกาส และจากการตรวจสอบหลักฐานก็พบว่ามีบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลอยู่จำนวนมากด้วยเช่นกัน ทั้งนี้มองว่า หาก กกต.ทำตามระเบียบที่ออกมาเมื่อ ก.พ. 2556 ก็คงจะได้อธิบายให้ กกต.ให้รับทราบ พร้อมขอบคุณ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ที่เป็นหลักในการอธิบายกฎหมาย และออกมาเป็นไปตามข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล

นายพิธา ยังกล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น เป็นการนำองค์ประกอบ 2 ประการ คือ ระบอบประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบบการเมืองโดยหลักการอำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ย่อมได้รับการคุ้มครองจากรัฐโดยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งมีรูปแบบของรัฐเป็นรูปแบบของราชอาณาจักร โดยพระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจทางการเมืองและการปกครองด้วยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้องค์พระประมุขของรัฐ จึงดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องมิได้ การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์ กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันโดยสามารถรักษาคุณค่า รักษาพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบอย่างสมดุลจึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และไม่ได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง กฎหมาย วัฒนธรรมคุณค่าพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของแต่ละประเทศนั้นย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไปตามวิวัฒนาการของสังคม

นายพิธา กล่าวว่า ความพยายามที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อการปกครองของเรา เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่าและเชื่อมประสานต่อสิ่งใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยและสถาบันแปลกแยกต่อกัน  การปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจด้วยการกดปราบ ไม่ว่าจะกดปราบจากการใช้กำลัง และกฎหมาย มีแต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วนเหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืน ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา ด้วยความยินยอมพร้อมใจของประชาชน

นายพิธา กล่าวว่า เพราะหลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นความจงรักภักดี เข้ามากล่าวหาโจมตีทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร ทั้งการทำรัฐประหารโดยกำลังทหารและกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกินเพื่ออำพรางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองของยุคสมัย ได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการเมือง และความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ซึ่งสังคมไทยในอดีตอาจไม่คุ้นเคย แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติปัญญา เพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดและสร้างฉันทามติใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว สส.พรรคก้าวไกลจึงเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไข ม.112 ด้วยมีเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุขกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่การบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และหลักคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

นายพิธา กล่าวต่ออีกว่า ในทางตรงกันข้ามการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะต้องโอบรัดความหลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย กระบวนการทางประชาธิปไตย แก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคม อย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิถีการเสริมสร้างประชาธิปไตย ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้องค์พระบารมี ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก จะเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขให้ยืนยงสืบไปเยี่ยงนานาอารยะประเทศ.