เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 67 ที่ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน ภายในวัดเจริญรัตนาราม หมู่ 5 ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยนายจรุงศักดิ์ ชะโกฎิ ประธานคณะทำงานปลาหมอคางดำ และคณะ 15 คน ได้ลงพื้นที่ตั้งโต๊ะรวบรวมเอกสารจากชาวบ้าน เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทยอยเดินทางมายื่นเรื่องลงทะเบียนข้อเท็จจริง ทั้งในพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวม 57 ราย และสภาทนายความฯ จะมารวบรวมเอกสารค่าเสียหายจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มเติมในวันเสาร์ที่ 10 ส.ค. 67 เวลา 09.00 น. อีกครั้ง

วิกฤติ ‘ปลาหมอคางดำ’

นายจรุงศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านใน ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา ว่าได้รับความเสียหายจากการระบาดของปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติและในพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน ซึ่งสภาทนายความได้ตั้งประธานสภาทนายความจังหวัด รวม 16 จังหวัด เป็นผู้แทนของสภาทนายความร่วมประชุมกับส่วนราชการ กำหนดวิธีแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ต่อมามีชาวบ้านในจังหวัดอื่นๆ ได้ยื่นขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้ามาเพิ่มเติม

นายจรุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสอบข้อเท็จจริงพบว่าปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ได้รับอนุญาตจากการประมงให้นำเข้าเพื่อการทดลองศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยมีผู้ประกอบการแห่งหนึ่งใน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นผู้ขออนุญาตนำเข้าและมีการนำเข้ามาศึกษาทดลองเลี้ยงในปี พ.ศ.2553 ที่ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของบริษัทผู้ประกอบการดังกล่าว จากนั้นพบการระบาดของปลาหมอคางดำใน ปี 2560 เป็นต้นมา เริ่มครั้งแรกที่ ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง และจากการศึกษาพบว่าสายพันธุ์การระบาดของปลาหมอคางดำมาจากจุดร่วมสายพันธุ์เดียวกัน ดังนั้นสภาทนายความฯ จึงเตรียมฟ้องคดีปกครอง และคดีแพ่งกับหน่วยงานของรัฐ และบริษัทเอกชน ที่นำเข้าปลาดังกล่าว จึงต้องลงพื้นที่รวบรวมรายชื่อชาวบ้านและความเสียหาย เริ่มที่ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัทเอกชนดังกล่าวและเป็นจุดแรกที่ปลาหมอคางดำเริ่มระบาด

นายจรุงศักดิ์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความและคณะกรรมการสำนักงานคดีปกครองจึงกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในสองแนวทาง คือดำเนินคดีแพ่งกับผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ของชาวประมง และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ตามหลัก “ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย”โดยจะฟ้องศาลปกครอง ฟ้องหน่วยงานของรัฐที่อนุญาตให้นำปลาหมอคางดำเข้ามา และละเลย ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นการทำละเมิดทางปกครอง และให้หน่วยงานอนุญาตขจัดการแพร่ระบาดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป

ประธานคณะทำงานปลาหมอคางดำ กล่าวอีกว่า อีกทั้งจะมีการฟ้องศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ฟ้องบริษัทเอกชน รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่นำปลาหมอคางดำเข้ามาแล้วเกิดความเสียหาย โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากผู้ก่อให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งค่าเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และนอกจากชาวบ้านจะฟ้องแล้ว สภาทนายความซึ่งเป็นผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติคุณภาพสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ จะเป็นโจทย์ฟ้องคดีด้วย โดยคาดว่าจะยื่นฟ้องไม่เกินวันที่ 16 สิงหาคม 2567 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ได้มายื่นเอกสารในวันนี้ สามารถไปขอรับและยื่นเอกสารได้ที่สภาทนายความจังหวัดต่างๆ ทั้ง 16 จังหวัด

นายนิพนธ์ อมศิริ กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน ต.แพรกหนามแดง กล่าวว่า กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน ต.แพรกหนามแดง จัดตั้งขึ้นมื่อปี 2545 หรือ 22 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีสมาชิก 700-800 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกุ้ง หอย ปู ปลาในพื้นที่ ต.แพรกหนามแดง มีเงินกองทุนกว่า 10 ล้านบาท ก่อนมีปลาหมอคางดำระบาดสมาชิกส่งเงินตรงเวลาไม่เคยเกินกำหนด แต่พอมาเจอวิกฤติปลาหมอคางดำระบาดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พูดได้เลยว่าสร้างความเสียหายไปมากมาย บางคนต้องขายที่ดินทำกิน บางคนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวเป็นหนี้เป็นสิน มีสมาชิกกว่า 20 ราย เป็นหนี้กองทุนกลุ่มสัจจะ แล้วค้างจ่ายเกินกำหนดรวมเป็นเงินเกือบ 1 ล้านบาท และยังไม่มีวี่แววว่าจะใช้หนี้ได้ ต้องเรียกมาทำข้อตกลงประนอมหนี้ผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่สมาชิกไม่มีเงินใช้หนี้ก็เพราะเจ๊งขาดทุนจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเยอะมาก กินลูกกุ้งลูกปลาหมด ลูกปูก็ไม่เว้น ลงทุนไปหลายแสนต่อครั้ง อย่าว่าแต่กำไร แม้ทุนก็ไม่มีคืน ที่น่าเห็นใจชาวบ้านคือปกติเคยใช้เครื่องยนต์สูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ตอนนี้ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะทุนหมด ต้องใช้วิธีธรรมชาติ คือเปิดน้ำเข้าบ่อตอนน้ำขึ้น โอกาสน้อยมากที่จะได้เชื้อพันธุ์จากธรรมชาติเข้าบ่อเหมือนเมื่อก่อน ลงทุนเยอะแต่ทุนหาย กำไรไม่เหลือ นอกจากนี้ ยังกระทบไปถึงชาวประมงพื้นบ้าน เพราะปลาหมอคางดำไล่กินลูกพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ ปลาพื้นถิ่นแทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ทั้งปลากระบอก และปลาหมอเทศ เมื่อก่อนชาวบ้านยังจับมาขายมีรายได้บ้าง แต่ตอนนี้ไม่เหลือแล้ว มีแต่ปลาหมอคางดำเต็มคลอง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า เมื่อเห็นทางสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาตั้งโต๊ะรวบรวมเอกสารค่าเสียหายของชาวบ้าน จากการระบาดของปลาหมอคางดำครั้งนี้ ตนมองว่าเป็นทางรอดของชาวบ้านก็ว่าได้ เหมือนเป็นความหวังว่าชาวบ้านจะได้ค่าชดเชยหรือได้รับการเยียวยา เพื่อนำเงินมาลงทุนใหม่หรือนำมาใช้หนี้ใช้สินได้บ้าง เนื่องจากทุกวันนี้ ชาวประมงพื้นบ้านใน ต.แพรกหนามแดง เดือดร้อนกันหนักหนาสาหัสกับปัญหาปลาหมอคางดำจริงๆ