จากกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 26/2567 โดยมีวาระสำคัญ คือ ขอให้ตรวจสอบกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยระบุว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และ รพ.ตำรวจ มีการเลือกปฏิบัติ และได้ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช. ดำเนินการนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า เบื้องต้นตนได้รับทราบประเด็นดังกล่าวบ้างแล้ว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดลึก ๆ ส่วนขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์นั้น ถ้าทางผู้ร้องมีการส่งเรื่องไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เเรกเริ่มก็จะเป็นกระบวนการของ ป.ป.ช. ที่จะต้องตรวจสอบก่อน ขณะที่ในส่วนของกรมราชทัณฑ์ พร้อมที่จะเข้าให้ข้อมูลสนับสนุนและชี้แจงทุกประเด็นที่ ป.ป.ช. เรียกสอบถาม แต่เราก็จะจัดเตรียมข้อมูลให้ครบถ้วน ส่วนกรณีที่ผู้ร้องได้ร้องเรียนเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังออกรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน โดยมี ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทำหนังสือขอความเห็นชอบตามลำดับชั้นของผู้บริหาร จนเป็นเหตุให้อดีตนายกฯ นอนรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไป รวมถึงมีอาการวิกฤติทุกวันถึงขั้นไม่ส่งตัวนอนห้องฉุกเฉิน แต่กลับอยู่ในห้องพิเศษ ชั้น 14 นั้น

ตนขอเรียนว่า หลักในการพิจารณาสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เรื่อง กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 มีเจตจำนงว่า การเห็นชอบให้ผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน 30 วัน 60 วัน และเกินกว่า 120 วัน จะเป็นการพิจารณาโดยนำเอาข้อมูลทางการแพทย์มาใช้ประกอบ อีกทั้งหากราชทัณฑ์จะพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ ถ้าความเห็นของแพทย์เห็นว่าผู้ต้องขังรายนี้มีความเจ็บป่วยที่จำเป็นจะต้องรักษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์โดยใกล้ชิดต่อไป ดังนั้น กรณีที่เราอนุมัติให้อดีตนายกฯ ได้นอนรักษาตัวภายนอกเรือนจำตามระยะเวลาดังกล่าว จึงมาจากการใช้ความเห็นแพทย์ในการพิจารณา

นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า กรมราชทัณฑ์ ไม่มีความกังวลใจใด ๆ ที่จะต้องชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงต่อ ป.ป.ช. เรายังยืนเหมือนเดิมว่า การที่เราจะนำผู้ต้องขังคนใดไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของผู้ต้องราชทัณฑ์ในช่วงนั้น ถ้าเกินกว่าศักยภาพที่เรือนจำจะให้การดูแลรักษาได้ ก็มีความจำเป็นต้องส่งรักษายังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูง เนื่องจากเราคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เป็นมาตรการขั้นพื้นฐานที่ราชทัณฑ์ต้องให้การดูแลเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงกับผู้ต้องราชทัณฑ์ทุกรายโดยเท่าเทียมกัน.