ก่อนหน้าเปิดการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ประเทศเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศสก็ทุ่มงบประมาณถึง 1,180 ล้านปอนด์หรือมากกว่า 53,000 ล้านบาท เพื่อปรับสภาพน้ำที่เต็มไปด้วยมลพิษของแม่น้ำแซนให้สะอาดมากพอที่จะใช้ในการแข่งขันไตรกีฬา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนดการแข่งขันจริงของไตรกีฬาประเภทชายก็จำเป็นต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปด้วยเหตุผลว่า “เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพ” และเริ่มการแข่งขันได้จริง ๆ ในตอนเช้าของวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา เมื่อตรวจสอบคุณภาพของน้ำเรียบร้อยแล้ว

กระนั้นก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ไทเลอร์ มิสลอว์ชัก นักไตรกีฬาทีมชาติแคนาดาวัย 29 ปี อาเจียนในแม่น้ำแซนถึง 10 รอบ หลังจากเข้าร่วมการแข่งขันด้วยการว่ายน้ำในแม่น้ำดังกล่าว ตามที่เขาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแคนาดาในภายหลัง

มาร์เทน ฟาน เรียล นักไตรกีฬาทีมชาติเบลเยียม (ซ้าย) และไทเลอร์ มิสลอว์ชัก นักไตรกีฬาทีมชาติแคนาดา (ขวา) ที่สะพานอเล็กซองดร์ที่ 3 กรุงปารีส ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกประเภทชายเดี่ยวในวันที่ 31 ก.ค. 2567 (Ezra Shaw/Getty Images)

ขณะเดียวกัน โยเลียน เวอร์เมย์เลน นักไตรกีฬาหญิงทีมชาติเบลเยียม ก็เผยประสบการณ์สุดสยองเมื่อเธอต้องลงไปว่ายน้ำในแม่น้ำแซนระหว่างแข่งขันโอลิมปิกครั้งล่าสุดในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ 

โยเลียน เวอร์เมย์เลน นักไตรกีฬาหญิงทีมชาติเบลเยียม (George Wood/Getty Images)

“ฉันกินน้ำเข้าไปเยอะมาก เดี๋ยวพรุ่งนี้เราก็คงได้รู้ว่าฉันจะป่วยหรือเปล่า แน่ล่ะว่าน้ำ (ในแม่น้ำแซน) ไม่ได้มีรสชาติเหมือนโค้กหรือสไปรท์ ตอนที่ว่ายผ่านใต้สะพาน ฉันรู้สึกและได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่ควรเก็บเอามาคิดให้มากนัก”

“แม่น้ำแซนก็สกปรกแบบนี้มาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี ดังนั้นพวกผู้จัดจะมาพูดไม่ได้หรอกว่าความปลอดภัยของนักกีฬาต้องมาก่อน มันไร้สาระ!”

อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ไตรกีฬาโลกได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าทางสมาพันธ์ฯ กำลังดำเนินการตามมาตรการหลายอย่างเพื่อรับประกันความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน เช่น การวัดระดับมลพิษและคุณภาพน้ำ อีกทั้งเน้นย้ำว่าสุขภาพของนักกีฬาคือความสำคัญสูงสุด

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES