การจัดโอลิมปิกแต่ละครั้งต้องใช้เงินมหาศาล มีเจ้าภาพหลายชาติเศรษฐกิจแทบจะพังพินาศเพราะการจัดโอลิมปิก

เช่น กรุงเอเธนส์ ของกรีซ เมื่อปี 2004 และ รีโอเดจาเนโร ของบราซิล เมื่อปี 2016

ครั้งก่อนหน้านี้ ที่โตเกียว เมื่อปี 2021 ญี่ปุ่น ก็ต้องใช้เงินมหาศาล และเกินงบประมาณที่ตั้งเอาไว้มาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะโควิด

งบประมาณในการจัดโอลิมปิก 3 ครั้งที่ผ่านมา มีดังนี้
ลอนดอน 2012 อยู่ที่ราว 16,800 ล้านดอลลาร์ หรือ 588,000 ล้านบาท
รีโอเดจาเนโร 2016 อยู่ที่ราว 23,600 ล้านดอลลาร์ หรือ 826,000 ล้านบาท
โตเกียว อยู่ที่ 13,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 479,500 ล้านบาท

แต่ “ปารีส 2024” ใช้งบน้อยกว่าทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา

และน้อยกว่างบประมาณที่รัฐบาลประเทศไทยจะใช้ในโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ 450,000 ล้านบาท

  • ทำไมถึงใช้เงินน้อย?
    ฝรั่งเศส ใช้งบประมาณจัดโอลิมปิก 2024 ราว 9,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 339,500 ล้านบาท

สาเหตุที่ใช้น้อย เดาได้ไม่ยาก นั่นเพราะพวกเขามีความพร้อมสูงอยู่แล้ว

มีสนามกีฬา และระบบสาธารณูปโภค ที่สามารถใช้จัดได้ทันที โดยไม่ต้องสร้างสนามใหม่มากนัก

สิ่งที่ต้องสร้างใหม่หลักๆ จึงมีแค่หมู่บ้านนักกีฬา, ศูนย์กีฬาทางน้ำ และสนามแข่งอื่นๆ อีกเล็กน้อย

ซึ่งทั้งหมด นำไปใช้ต่อได้ทันที หลังจบโอลิมปิก

ฝรั่งเศส ยังจัดการต่อเติมสนามเดิมที่มีอยู่แล้ว และสร้างสนามแข่งขัน “ชั่วคราว” ขึ้นอีกหลายแห่ง

นอกจากจะทำให้ประหยัดงบแล้ว เจ้าภาพยังเจาะจงสร้างในบริเวณจุดแลนด์มาร์คสำคัญของปารีส เช่น หอไอเฟล และพระราชวังแวร์ซายส์

เพิ่มความกิ๊บเก๋ แถมได้ขายซอฟต์พาวเวอร์ ถ่ายทอดสดให้เห็นกันทั่วโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยว และเม็ดเงินเข้าประเทศได้อีกทาง

ถือเป็นความคิดที่บรรเจิด และล้ำเลิศ จนนักวิชาการ และเอ็นจีโอทั่วโลกยกมือเห็นด้วยกันไม่ทัน

แถมยังอาจจะทำให้เกิด “เทรนด์ใหม่” ของการจัดโอลิมปิก ที่ไม่ต้องอลังการงานสร้าง ลงทุนลงแรงสร้างสนามใหม่แล้วใช้ครั้งเดียว เปลืองทั้งงบประมาณ และทรัพยากรโลกอย่างที่เคยทำกันมา

  • เกินงบที่ตั้งเอาไว้ตอนแรก?
    แม้จะใช้งบประมาณไม่สูงนัก แต่คณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกของปารีส บอกว่า นี่คือตัวเลขที่เกินกว่าที่คาดไปมากแล้ว

เพราะตอนที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว พวกเขาตั้งงบเอาไว้ที่ 6,800 ล้านยูโร หรือราว 272,000 ล้านบาทเท่านั้น

งบที่เกิน ส่วนใหญ่ใช้ไปกับ “การรักษาความปลอดภัย”

จากความตึงเครียดของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ทำให้ฝรั่งเศสต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารเป็น 45,000 นาย และยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกถึง 50,000 นาย

นอกจากนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงหยุดงานของคนงาน ฝรั่งเศส ยังต้องเพิ่มเงินโบนัส และสวัสดิการมากมายให้แรงงานที่ต้องให้บริการในช่วงโอลิมปิกด้วย

แต่ยังมีงบที่ไม่ได้รวมในงบจัดอีกหลายก้อน ไม่ว่าจะเป็น 1,400 ล้านยูโร หรือราว 56,000 ล้านบาท สำหรับการทำความสะอาดแม่น้ำแซนให้ใช้แข่งขันได้

3,500 ล้านยูโร หรือราว 140,000 ล้านบาท สำหรับการทำรถไฟเมโทรเพิ่มขึ้นอีก 14 สายก่อนโอลิมปิก

ซึ่งทั้ง 2 อย่างที่เพิ่มมา สามารถต่อยอดสร้างประโยชน์ให้ชาวปารีสได้เต็มๆ

  • ไม่ได้ใช้เงินภาษี?
    นอกจากใช้งบน้อยแล้ว คณะกรรมการจัดโอลิมปิกของปารีส ยืนยันด้วยว่า เงินที่เอามาจัดนั้น ไม่ได้เป็นการ “ผลาญเงินภาษี” ของชาวเมืองน้ำหอม และไม่ได้ทำให้ประเทศเกิดหนี้เพิ่ม

พวกเขาอ้างว่า นำเงินภาษีมาใช้จัดการแข่งขันครั้งนี้เพียง 3 พันล้านยูโร หรือราว 120,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับแค่ 0.1% ของ “จีดีพี” ของประเทศฝรั่งเศส

ยิ่งกว่านั้น งบในส่วนที่มาจากภาษี ฝรั่งเศส ยังนำไปใช้กับ “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่จะทำให้ชาวปารีสได้ใช้ และได้รับผลประโยชน์ต่อไปให้จบโอลิมปิก

ถามว่า แล้วส่วนที่เหลือ ฝรั่งเศส เอาจากที่ไหนมาใช้จัด?

ตอบไม่ยากเลย นั่นคือมาจาก ค่าตั๋วเข้าชม, ค่าโฆษณา และค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทั่วโลก รวมถึงภาษีที่พวกเขาจะเก็บได้จากนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมากินมาอยู่ในปารีสร่วมครึ่งเดือน

ขณะที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ก็มอบเงินสนับสนุนในการจัดให้ปารีสจำนวน 1,200 ล้านยูโร หรือราว 48,000 ล้านบาทด้วย

  • จัดโอลิมปิกแล้วได้อะไร?
    ลงทุนมหาศาลขนาดนี้ ถามต่อว่า จัดโอลิมปิกแล้วเจ้าภาพได้อะไร?

ไอโอซี เคยบอกเอาไว้ว่า “การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคือการเพิ่มพลังทางเศรษฐกิจให้ประเทศเจ้าภาพ”

แต่บทเรียนจากเจ้าภาพหลายครั้งที่ผ่านมา คำพูดนี้อาจจะไม่จริงสักเท่าไหร่ เพราะขาดทุนกันแทบประดาตาย

สำหรับโอลิมปิกครั้งนี้ เจ้าภาพบอกว่า เงินทุก 1 ยูโร (40 บาท) ที่ทุกคนใช้ที่ปารีส มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่ากับ 3 ยูโร (120 บาท)

นี่ไม่ใช่ตัวเลขที่พูดมาลอยๆ แต่มาจากการศึกษา และวิจัยร่วมกันของ ปารีส 2024 กับ ไอโอซี

พวกเขาคาดการณ์ว่าโอลิมปิก 2024 จะช่วยบูทเศรษกิจของฝรั่งเศสได้ราว 6,700-11,100 ล้านยูโร หรือราว 268,000-444,000 ล้านบาท

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว การจัดโอลิมปิกแต่ละครั้ง สิ่งที่เจ้าภาพจะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ก็คือ “การท่องเที่ยว” และ “ซอฟต์พาวเวอร์”

แต่ว่ากันว่า การจัดของ ปารีส ครั้งนี้ ไม่ได้ช่วย 2 เรื่องนี้มาก

ไม่เหมือนตอนที่ “บาร์เซโลนา” จัดโอลิมปิก 1992 ซึ่งทำให้พวกเขาแจ้งเกิดเต็มตัว และกลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะ ปารีส คือมหานครที่เป็นปลายทางของทุกคน ที่อยากจะไปเยือนสักครั้ง และมีซอฟต์พาวเวอร์มากมายที่ชาวโลกอยากจะสัมผัสอยู่แล้ว

อีกเรื่องที่ปารีสได้ประโยชน์ก็คือที่อยู่อาศัยสำหรับคนท้องถิ่น

ฝรั่งเศส ใช้เงินถึงราว 1,500 ล้านยูโร หรือ 60,000 ล้านบาท สร้างหมู่บ้านนักกีฬา ในแถบชานเมืองแซงต์ เดอนีส์ ที่มีคนยากจนอาศัยอยู่เยอะริมแม่น้ำแซน

หลังจากที่เหล่านักกีฬากลับประเทศไป แผนคือจะเปิดขายให้คนทั่วไปในราคาไม่แพง ช่วยให้มีรายได้กลับคืนมาบ้าง และทำให้คนฐานะยากจนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

ความจริงแล้ว ปารีส ยังจ้างให้ชาวบ้านในย่านนั้นถึงมากกว่า 2,000 คนมาก่อสร้างหมู่บ้านนักกีฬา ทำให้เกิดการจ้างงาน และทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น

  • บทสรุป?
    การจัดโอลิมปิกของปารีสครั้งนี้ นอกจากสร้างความฮือฮาในหลายเรื่อง ไล่มาตั้งแต่พิธีเปิดการแข่งขัน จนถึงการต่อสู้กันของนักกีฬาในสนามที่ดุเดือดแล้ว

ยังถือเป็นมิติใหม่ของการจัดโอลิมปิก ที่อาจจะกลายเป็นเทรนด์ในการจัดมหกรรมกีฬาต่อไป

เพราะปารีส พิสูจน์แล้วว่า การจัดงานใหญ่ให้ปัง โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลนั้นทำได้จริง

แถมยังก่อเกิดประโยชน์แก่ประเทศในทุกมิติ

แน่นอนว่า เงินที่ใช้นั้นมหาศาล และคงทำให้เกิดเสียงคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์มากมายตามมา

แต่คำถามไม่ใช่ใช้เงินเท่าไหร่ แต่เป็นใช้แล้วคุ้มหรือไม่

และใช้แล้วเกิดประโยชน์ต่อคนในชาติจริงไหมต่างหาก?