สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ว่า กลุ่มนักวิจัยกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีโลหะหนักปริมาณน้อยจริง แต่การบริโภคมากกว่าหนึ่งหน่วยบริโภคต่อวัน หรือรับประทานร่วมกับอาหารอื่น ๆ ที่มีโลหะหนัก เช่น อาหารทะเล และข้าวกล้องที่ไม่ล้าง อาจทำให้ร่างกายได้รับโลหะหนักเกินปริมาณที่แนะนำ

ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้บริโภคและหน่วยงานทดสอบอิสระบางแห่ง รายงานการปนเปื้อนของโลหะหนัก ในผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากโกโก้ เช่น ดาร์กช็อกโกแลต ซึ่งสาเหตุของการมีสารเหล่านี้ คาดว่าเป็นเพราะดินที่ใช้ปลูกต้นโกโก้ และการแปรรูปทางอุตสาหกรรม

รายงานดังกล่าว ทำให้บรรดานักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน และเว็บไซต์ ConsumerLab.com ดำเนินการวิเคราะห์ ซึ่งปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีโกโก้ จำนวน 70 รายการ จากทั้งหมด 72 รายการ มีการปนเปื้อนตะกั่วในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งกำหนดโดยรัฐแคลิฟอร์เนีย กลับพบว่า ผลิตภัณฑ์ 31 รายการ จาก 72 รายการ มีปริมาณตะกั่วเกินเกณฑ์ และผลิตภัณฑ์ 13 รายการ จาก 37 รายการ มีปริมาณแคดเมียมเกินเกณฑ์

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาของพวกเขาแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ข้างต้นอาจไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เมื่อรับประทานในปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค หรือราว 30-60 กรัม แต่การบริโภคในปริมาณมากขึ้น อาจทำให้ร่างกายได้รับโลหะหนักเกินขีดจำกัดที่ระบุไว้ในกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเรียกว่า “ข้อเสนอที่ 65” หรือ “พร็อพ 65”

“หากผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนทั้งหมด ถูกบริโภคในปริมาณเล็กน้อยและไม่บ่อยครั้ง สารปนเปื้อนเหล่านี้อาจไม่ถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุข แต่ในทางตรงกันข้าม หากผู้บริโภคทั่วไปรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ การได้รับสารเติมแต่งก็อาจเป็นปัญหาทางสาธารณสุขได้” งานศึกษาระบุ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการทดสอบสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มเติม.

เครดิตภาพ : AFP