เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นางนิยดา เสนีย์มโนมัย โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้สัมภาษณ์หลังจากที่สำนักงานประกันสังคมได้เปิด “กองบริหารจัดการเงินค้างชำระ” เพื่อติดตามกรณีที่นายจ้างค้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าทางรัฐบาลเองก็มีการค้างส่งเงินสมทบเช่นกัน เป็นเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ว่า โดยปกติที่หน่วยงานภาครัฐต้องตั้งงบประมาณประจำปี เพื่อของบฯ กับรัฐบาล ทาง สปส. ได้นำจำนวนเงินที่รัฐบาลค้างส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ใส่ไปในแผนงบฯ แต่ละปีด้วย ที่ผ่านมาทางรัฐบาลก็พยายามจัดสรรงบฯ จ่ายให้กองทุน เพื่อชำระหนี้ดังกล่าว ตัวเลขหนี้ก็ลดลงทุกปี เช่น ปี 2568 ได้ระบุว่าปีนี้รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินสมทบกี่บาท แล้วมียอดที่ค้างส่งอยู่กี่บาท เราตั้งไว้หมดเลย

“รัฐบาลก็ได้ทำตามวินัยการเงินการคลัง คือ เงินสมทบปีปัจจุบัน จะไม่มีการค้างจ่าย ต้องส่งให้เต็มยอดที่เราขอไป ส่วนเงินสมทบที่ค้างชำระ ก็ต้องพิจารณาดูว่ามีงบประมาณส่วนไหนที่สามารถบริหารจัดการมาคืนให้กองทุนฯ ได้ ที่ผ่านมาในขั้นตอนการแปรญัตติก็ให้เพิ่มขึ้นอีก อย่างปีล่าสุด ก็ได้เพิ่มมาหลายร้อยล้านบาท” นางนิยดากล่าว

เมื่อถามว่า สปส. ได้คิดดอกเบี้ยค้างส่งเงินสมทบจากภาครัฐอย่างไรเหมือนกับของส่วนนายจ้างหรือไม่ นางนิยดา กล่าวว่า ในเรื่องดอกเบี้ยส่วนของรัฐบาล ไม่ได้มีการระบุไว้ในกฎหมาย แต่ในมุมมองแล้ว ผู้ประกันตนหรือนายจ้างอาจมองไม่ยุติธรรมที่รัฐบาลค้างส่งเงินสมทบ แต่ไม่มีดอกเบี้ย แต่ถ้าดูในอีกแง่หนึ่ง คือรัฐบาลก็ต้องจัดสรรเงิน เพื่อดูภาพรวมของประเทศในกระทรวงอื่น ๆ ด้วย ว่างบฯ ที่มีใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ตนจำตัวเลขเงินที่รัฐค้างจ่ายเข้ากองทุนฯ ไม่ได้ แต่ทั้งหมดอยู่ในแผนของบฯ ที่ สปส. ได้ยื่นของบประมาณไปแล้ว แต่ยืนยันได้ว่ายอดค้างชำระลดลงทุกปี เพราะรัฐบาลเองก็พยายามคืนของเก่าให้มากที่สุด

ถามว่าการที่รัฐบาลค้างเงินสมทบ ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของ สปส. อย่างไร นางนิยดา กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบอะไร เพราะจริง ๆ มีกฎหมายรองรับเรื่องเหล่านี้ ในมาตราที่ 24 ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ระบุว่า ถ้าปีไหนที่กองทุนประกันสังคม มีเงินไม่พอใช้จ่าย รัฐบาลจะต้องเป็นคนจ่ายให้ แต่เหตุการณ์นี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าที่ผ่านมา สปส. ได้ทวงถามยอดค้างชำระทั้งจากรัฐบาลและนายจ้าง ไม่ได้เพิกเฉยแต่อย่างใด.