ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เคาะให้วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เปิดรับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อส่งให้กับศูนย์พัฒนาที่ดิน นำไปผลิตเป็นน้ำหมัก ส่งให้กับ การยางแห่งประเทศไทย ตามโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ จุดที่ 2 “นายวิชาญ เหล็กดี” ในพื้นที่ตำบลบางหญ้าแพรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร และได้มีการพูดคุยกับ นางสมพร สายบริสุทธิ์ อายุ 60 ปี เจ้าของแพปลาฯ ก็บอกว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้แพปลารับซื้อปลาหมอคางดำจากเรือประมงวันนี้ราคา 15 บาท เป็นเวลา 1 เดือนนั้น ตั้งแต่เช้ามาก็มีเรือนำปลามาขายแล้ว 1 ลำ น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ซึ่งนับว่ายังคงเป็นปริมาณปลาที่น้อยมากที่จะนำไปส่งยังศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร หรือ สถานประกอบการที่อยู่ในโครงการ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้เมื่อได้ปริมาณปลาที่ไม่คุ้มค่าต่อการนำบรรทุกใส่รถไปส่งยังจุดของรัฐ ก็ต้องมีการดองน้ำแข็งไว้ก่อนเพื่อรอปลาจากลำอื่นๆ เข้ามาสมทบ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเข้ามาเมื่อไหร่ และเข้ามาแล้วจะมีปริมาณปลามากน้อยเพียงใด ซึ่งตรงนี้ก็กลายเป็นต้นทุนที่ทางแพปลาหรือจุดรับซื้อปลาหมอคางดำต้องรับผิดชอบทั้งค่าน้ำแข็ง และ ค่าน้ำมัน ภายในวงเงินที่ได้เพิ่มมาอีก 5 บาท จาก 15 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่จากการได้พูดคุยกับทางประมงจังหวัดสมุทรสาคร ก็บอกว่า ขอให้แพปลาแต่ละแห่งร่วมมือช่วยเหลือกัน คือ หากปริมาณปลาในแต่ละวันของแต่ละแพมีไม่มากนัก ก็ให้รวบรวมเข้าด้วยกันแล้วจัดรถนำไปส่งเพียงคันเดียว

 นางสมพร ยังบอกด้วยว่า ราคารับซื้อ 15 บาทนี้ ก็ดีต่อเรือประมงที่จับปลา แต่ทางเรือเองพวกเขาก็ห่วงแพว่า จะคุ้มค่าหรือไม่กับการรับซื้อราคานี้ แล้วแพต้องรับภาระทั้งหมดเพื่อนำไปส่งยังจุดที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นผู้ผลิตน้ำหมักชีวภาพส่งให้กับการยางแห่งประเทศไทย ตามโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นในภาวะแบบนี้ อะไรที่พอจะช่วยเหลือกันได้ก็ต้องช่วยกันในการกำจัดปลาหมอคางดำออกจากสายน้ำ แหล่งทำมาหากิน และแหล่งเพาะเลี้ยงทางการเกษตร เพื่อให้มีสัตว์น้ำประเภทอื่นได้เกิดขึ้นและทรัพยากรสัตว์น้ำกลับมาอุดมสมบูรณ์กันอีกครั้ง ส่วนสถานการณ์ปลาหมอคางดำในพื้นที่บริเวณริมทะเลชายฝั่งแถบพื้นที่บางหญ้าแพรก และในคลองพิทยาลงกรณ์ ก็ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่ก็มีชาวบ้านบอกว่าอยากได้อวนที่ตาถี่มากขึ้น เพื่อจะได้จับลูกปลาได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังรอการประกาศขยายขอบเขตของทางสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อที่จะได้จับปลาหมอคางดำในคลองซอยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลทำให้การกำจัดปลาหมอคางดำเป็นไปได้อย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่ของจังหวัดสมุทรสาคร

ด้านนายกมล  ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานชมรมอวนลากสมุทรสาคร กล่าวว่า สำหรับในเรื่องที่รัฐบาลเคาะงบประมาณ 420 ล้านเพื่อการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ พร้อมกับงัด 7 มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำนั้น ในส่วนตัวมองว่า เรื่องของงบประมาณเป็นเรื่องที่คณะฯ แก้ไขปัญหาได้มีความเห็นชอบเพื่อเสนอเท่านั้น แต่ยังไม่เห็นตัวเงินที่ชัดเจนลงมาเพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถที่จะออกความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้มากนัก แต่ถ้าเป็นอย่างที่รัฐบาลประกาศไว้ก็คิดว่าเป็นทิศทางที่ดี ในการร่วมกันแก้ปัญหาปลาหมอคางดำตามมาตรการทั้ง 7 ด้าน แม้รู้ว่าปลาหมอคางดำไม่มีทางที่จะหมดสิ้นไปอย่างแน่นอน แต่ก็สามารถทำให้ลดน้อยลงได้ ซึ่งก็ดีกว่าที่จะไม่ทำอะไรเลย

 นายกมล กล่าวอีกว่า ณ วันนี้ตามประกาศของสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร มีจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด 10 จุด ตามที่ยื่นขออนุญาตไว้ แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้วมองว่า แพกุ้ง แพปลา ที่ตลาดทะเลไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานประมง กรมประมง เหมือนกันนั้น แม้จะไม่ได้ยื่นขอเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ แต่ก็น่าจะเปิดให้เป็นจุดรับซื้อปลาหมอคำได้ เพราะถ้าผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา จับกุ้ง จับปลาจากบ่อมาขาย เกิดมีปลาหมอคางดำติดตามสัก 200 – 300 กิโลกรัม ก็ให้สามารถขายกับจุดรับซื้อวัตถุดิบตรงนั้นได้เลย ไม่ต้องวิ่งไปขายยังจุดเฉพาะกิจที่รับซื้อปลาหมอคางดำ ซึ่งไม่คุ้มกับค่าน้ำมันและค่าเสียเวลา หากเปิดโอกาสตรงนี้ผมมองว่าจะช่วยทำให้การกำจัดปลาหมอคางดำ เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือ การนำปลาหมอคางดำไปทำปลาป่น ซึ่งต่อวันสามารถทำได้มากกว่าน้ำหมักชีวภาพ และจังหวัดสมุทรสาครก็มีโรงงานทำปลาป่นอยู่ถึง 4 แห่งด้วยกัน แต่ปัจจุบันมีที่เข้าร่วมโครงการรัฐ 1 แห่ง ถ้าหากเปิดให้โรงงานปลาป่นทั้ง 4 แห่งนี้ สามารถทำปลาป่นขายให้กับโครงการรัฐได้ ก็จะช่วยทำลายปลาหมอคางได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้นไปอีก

 ส่วนเรื่องของทรัพยากรสัตว์น้ำในปัจจุบัน ถ้าเป็นบริเวณหน้าวัดกำพร้า จะเห็นได้ชัดเจนว่า เริ่มมีปลากระบอกกลับมาแล้ว เพราะปลาหมอคางดำลดน้อยลง ดังนั้นหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการกำจัดปลาหมอคางดำ ก็เชื่อว่าอีกไม่นานทรัพยากรสัตว์น้ำในทุกจุดจะต้องฟื้นตัวกลับมาได้แน่นอน ขณะที่การปล่อยปลากะพงนั้น ผมมองว่าเป็นแนวทางที่ได้ผล เพราะปลากะพงเป็นปลานักล่าเมื่อเราจับปลาหมอคางดำตัวใหญ่ไปแล้ว เหลือปลาหมอคางดำตัวเล็กๆ ก็จะถูกปลากะพงจับกิน ทำให้จำนวนปลาหมอคางดำลดน้อยลงไปอย่างชัดเจน แต่ที่สำคัญคือ ตอนนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันงดจับปลากะพงที่เราปล่อยลงไปเพื่อล่าปลาหมอคางดำ นอกจากนี้ในส่วนของลำคลองสายต่างๆ ที่อาจจะมีปลาหมอคางดำนั้น ทางท้องถิ่นจังหวัดหรือกรมการปกครองฯ น่าจะต้องจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกำจัดปลาหมอคางดำพร้อมกันทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ด้านนายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่าตนพร้อมด้วยบุคลากรในสังกัดร่วมกันขับเคลื่อนโครงการรับซื้อปลา หมอคางดำในพื้นที่ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันแรก 1สิงหาคมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยอมรับช่วงเช้ามีติดขัดเล็กน้อยหลังจากได้หารือร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีในจังหวัดสมุทรสาครสามารถเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท แพรวบรวม 5 บาท ผ่านฉลุยวันเดียวเกิน 5 ตัน ส่งให้ กยท.  ณ จุดรับซื้อจังหวัดกาญจนบุรี 3,737 กิโลกรัม ส่งให้สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร เพื่อให้หมอดินในพื้นที่ทำน้ำหมักชีวภาพ 2,150 กิโลกรัม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันนี้มีจุดรวบรวมที่สามารถดำเนินการได้ 2 จุด จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 10 จุด  และคาดว่าพรุ่งนี้ ( 3 ส.ค.)เกษตรและชาวประมงจะจับปลาหมอคางดำมาส่งขายเพิ่มมากขึ้น เมื่อเห็นผลจากการที่จังหวัดสมุทรสาครสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปนามนโยบายที่กรมประมงและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย ประมงจังหวัดสมุทรสาคร

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับในส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร ตามที่สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร  ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ประกาศรับสมัครผู้รวบรวมวัตถุดิบและจำหน่ายวัตถุดิบ(ปลาหมอคางดำ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยสามารถยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 26 – 30 กรกฎาคม 67 เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ ผลการรับสมัครมีผู้มายื่นใบสมัครจำนวน 10 ราย ดังนี้ 1. นายจุฑาวัฒน์ มาบุญธรรม,2. นายวิชาญ เหล็กดี,3. นางจารุจันทร์ จารวีไพบูรณ์,4. นายเฉลิมพล เกิดปั้น,5. นางสาวสุจิตรา จินดาวา,6. นายกมลเทพ ทับสีเงิน,7. กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง ๔๙,8. นางสาววรางคณา มงคลตรีลักษณ์,9. นายธันวา ไทยเจริญ และ 10. สหกรณ์การเกษตร บ้านแพ้ว จำกัด โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าว ต้องปฏิบัติและดำเนินการรวบรวมวัตถุดิบและจำหน่ายปลาหมอคางดำ โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ให้เป็นไปตามระเบียบวิธีการและเงื่อนไขตามที่กรมประมงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆกำหนด หากไม่ปฏิบัติหรือกระทำผิดเงื่อนไขหรือขาดคุณสมบัติ สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาครสงวนสิทธิ์ในการเพิกถอนสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการต่อไป.