เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลายแห่ง ซึ่งจากรายงานล่าสุดพบว่ามีสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย ทั้งหมด 4 โรงเรียน ใน 4 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีนักเรียนได้รับผลกระทบในการเดินทางมาโรงเรียน จำนวน 285 ราย บ้านพักนักเรียน ได้รับความเสียหาย จำนวน 87 ราย และบ้านพักครู ได้รับความเสียหาย จำนวน 19 ราย ตนจึงได้มีข้อสั่งการให้ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดูแลช่วยเหลืออย่างรอบด้านเต็มกำลัง
.
เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะสั้น คือ ให้ติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และประสานงานกับจังหวัด เตรียมการป้องกันตามแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้แล้ว ในส่วนสถานศึกษาให้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียนโดยเน้นความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมจัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รวมถึงทำการสำรวจและซ่อมแซม อาคารสถานที่ ระบบไฟฟ้า-ประปา ให้มีความพร้อมต่อการรับสถานการณ์ พร้อมทั้งประสานงานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และให้การช่วยเหลือเบื้องต้นโดยมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ ส่วนในระยะยาว คือ สำรวจความเสียหายของอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ของโรงเรียนในสังกัด แล้วเสนอคำของบประมาณมายัง สพฐ. รวมถึงสำรวจความเสียหายของบ้านพักอาศัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อพิจารณาในการช่วยเหลือ พร้อมประสานหน่วยงานในพื้นที่ ขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ในการซ่อมแซมความเสียหาย และประสานศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซม และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารายงานผลการดำเนินงานมายัง สพฐ. ให้ทราบเป็นระยะ
.
“จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าว และได้กำชับให้ สพฐ. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทางเขตพื้นที่ฯ ก็ได้ดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดของประเทศไทย ทั้งนี้ หากโรงเรียนใดต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถแจ้งมายังเขตพื้นที่ฯ หรือศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. เพื่อได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลือเยียวยาต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว